กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
CMMU-แพทย์รามาฯ เตรียมเปิดสอน “แพทย์นักบริหาร” รุ่นแรก สิงหาคม 2564
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดหลักสูตร “แพทยศาสตรบัณฑิต - การจัดการมหาบัณฑิต” หรือ “แพทย์นักบริหาร” มุ่งเน้นการสอนแบบปฏิบัติจริง (Practical Learning) เน้นการเรียนรู้และปฏิบัติจริง พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ตรงกับอาจารย์ผู้สอนและผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงศึกษาดูงานจริงที่โรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน และสถานประกอบการด้าน Health & Wellness เพื่อผลิตแพทย์นักบริหารที่มีภาวะผู้นำ มีศักยภาพด้านกระบวนการคิดและบริหารจัดการ สู่การสร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อองค์กรหรือระบบสาธารณสุขไทย รับวิกฤตด้านการแพทย์และสาธารณสุขประเทศ ตั้งรับวิกฤตสุขภาพทั่วโลก อันสอดคล้องกับจุดแข็งของไทยในการเป็น “Medical Hub and Wellness Tourism” ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญา 2 ใบ คือ ปริญญาจากแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และการจัดการมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) (กจ.ม.) จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยพร้อมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เดือนตุลาคม 2563 และเริ่มเรียนในเดือนสิงหาคม 2564
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ติดต่องานแพทยศาสตรศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. (02) 201 02008, 201 0117 หรือ หน่วยรับเข้าศึกษาและทะเบียน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. (02) 206 2000 เว็บไซต์ www.cm.mahidol.ac.th/program/mdmm
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2564 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สถาบันการศึกษาด้านการบริหารจัดการชั้นนำของประเทศ เตรียมเปิดหลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” หรือ “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” ที่มุ่งผลิต “แพทย์นักบริหาร” ที่มีภาวะผู้นำ มีศักยภาพด้านกระบวนการคิดและบริหารจัดการ สู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีของคนไทย ผ่านการพัฒนางานวิจัยหรือองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนตั้งรับวิกฤตสุขภาพทั่วโลก ดังเช่น วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” (M.D./ M.M.) ถือเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในไทย ในการผสมผสานหลักสูตรแพทยศาสตร์ ร่วมกับหลักสูตรนานาชาติด้านบริหารจัดการ โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งใน 4 ของสถาบันการศึกษาไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACSB จากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจระดับโลก โดยที่ผ่านมา สามารถผลิตนักบริหารศักยภาพสูง ร่วมขับเคลื่อนหน่วยงานหรือองค์กรสำคัญระดับประเทศและนานาชาติ
อย่างไรก็ดี แม้ในปัจจุบันศักยภาพการรักษาพยาบาลและการให้บริการด้านสาธารณสุขของไทย จะได้รับการจัดคุณภาพในลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ทั้งนี้ ด้านการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในประเทศยังสวนทาง ดังนั้น การรักษาคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการบริหาร การจัดสรรทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืองบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียนในหลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” ผู้เรียนจะได้ศึกษาในรูปแบบปฏิบัติจริง (Practical Learning) โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้และปฏิบัติจริง กรณีศึกษาจริง เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ประจำที่มีความเชี่ยวชาญจากงานวิจัยและการให้คำปรึกษาในภาคอุตสาหกรรม และอาจารย์พิเศษ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ตรง การศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และสถานประกอบการด้าน Health & Wellness โดยบัณฑิตที่จบการศึกษาจากโครงการ นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในฐานะแพทย์แล้ว ยังจะมีทักษะและความพร้อมในการบริหารจัดการโรงพยาบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขทั้งตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ อันสอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศไทยในฐานะ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Medical Hub and Wellness Tourism) ที่มีศักยภาพระดับโลก
สำหรับหลักสูตรดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 7 ปี คือ แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 6 ปี และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) อีก 1 ปี โดยในชั้นปีที่ 1-3 จะเป็นการจัดการเรียนการสอนในชั้นพรีคลินิก (Preclinical years) ที่คณะแพทย์รามาฯ ส่วนในชั้นปีที่ 4 จะจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพแบบองค์รวม Healthcare and Wellness Management ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และปีที่ 5-7 จะเป็นการเรียนในชั้นคลินิก (Clinical years) พร้อมทำวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ที่คณะแพทย์รามาฯ โดยเมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบ (Dual Degree) จากแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) และการจัดการมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) (กจ.ม.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร กล่าว
อย่างไรก็ดี หลักสูตรร่วม 2 ปริญญา “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” หรือ “แพทย์นักบริหาร” จะเปิดรับสมัครนักศึกษา รุ่นแรก ในเดือนตุลาคม 2563 สำหรับเข้าศึกษาในเดือนสิงหาคม 2564 โดยเปิดรับนักศึกษาปีละ 20 คน ผ่านการรับตรงระบบ TCAS รอบ Portfolio (TCAS I) ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้ ผลการศึกษามีคะแนนสะสมเฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 3.50 ผลคะแนนการสอบ Biomedical Admission Test (BMAT) ไม่ต่ำกว่า 12.0 และ ผลคะแนนการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (IBT) ไม่ต่ำกว่า 8.0 หรือ IELTS (Academic modules) ไม่ต่ำกว่า 6.5 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่าง “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี” และ “วิทยาลัยการจัดการ” ในหลักสูตร “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” (M.D./M.M.) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ติดต่องานแพทยศาสตรศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. (02) 201 02008, 201 0117 หรือ หน่วยรับเข้าศึกษาและทะเบียน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. (02) 206 2000 เว็บไซต์ www.cm.mahidol.ac.th/program/mdmm