กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--โฟร์ฮันเดรท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ประธานกรรมาธิการแก้ไขหนี้สินแห่งชาติ และส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี และ นายนาวิน ลาธุลี อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พบปะเกษตรกรและติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ในพืชเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ณ บ้านกระแอกใหญ่ ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563
โดยมีตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกพืช 5 ชนิดกว่า 300 คนร่วมสะท้อนผลการดำเนินโครงการฯ ของรัฐบาล ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรรัฐบาลได้จัดสรรวงเงิน 67,754 ล้านบาท ดูแลและมีเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการกว่า 7.3 ล้านครัวเรือน โดยปัจจุบันจ่ายเงินชดเชยพืชทั้ง 5 ชนิดไปแล้วกว่า 54,762 ล้านบาทต่อจำนวนเกษตรกรกว่า 3.4 ล้านครัวเรือน
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจ่ายเงินชดเชยพืชทั้ง 5 ชนิดไปแล้วกว่า 11,703 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 904,020 ครัวเรือน แบ่งเป็น ข้าว 877 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 115,789 ครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 249 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 27,365 ครัวเรือน ยางพารา 6,430 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 364,939 ครัวเรือน มันสำปะหลัง 3,975 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 340,243 ครัวเรือน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 170 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 55,684 ครัวเรือน ซึ่งตัวแทนเกษตรกรที่มาเข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจและเรียกร้องให้รัฐบาลประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้ง 5 ชนิด ในปีต่อไป
โดยนายจุรินทร์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และเห็นชอบในหลักการในการดำเนินการในปีต่อไป โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาราคาและปริมาณประกันรายได้ต่อครัวเรือนเพื่อนำเสนอ นบข. พิจารณาอีกครั้ง
นอกจากนี้ นายจุรินทร์เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการรักษาราคาข้าวให้มีเสถียรภาพยังได้เห็นชอบในหลักการมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก
" ยิ่งไปกว่านั้นในปีการผลิต 2563/64 กระทรวงพาณิชย์ยังได้เสนอการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้รับไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินในส่วนนี้ไม่ว่าจะประสบภัยธรรมชาติและไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต " นายจุรินทร์ กล่าว
จากนั้นในช่วงเวลาหลัง 17.30 น. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวหอมมะลิ” ในแปลงนาสาธิตร่วมกับเกษตรกร ณ บ้านกระแอกใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นให้รู้จักวิธีการปลูกข้าวนาหว่าน รู้จักวิถีชีวิตของชาวนา ตั้งแต่การหว่านข้าว และการไถเพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านลงไป ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกิจกรรมด้วย
https://youtu.be/Z06JS3m4LE0