กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ลมุพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น
บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด หรือ LPN Wisdom ระบุการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19) ให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก (3 Mega Trends) ในเรื่อง สุขภาพ (Wellness) การออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างสมดุล (Work-Life Balance) และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิต (Virtual Livable Connect)
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านการวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการอยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย (Wellness) และรูปแบบการทำงานที่ต้องการความสมดุลในการใช้ชีวิต (Work-Life Balance)ปรับเปลี่ยนจากการทำงานที่สำนักงาน ไปสู่การทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือการทำงานในที่อื่น ๆ ในแบบ Anytime Anywhere ในขณะที่รูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิตในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Virtual Livable Connect) มาตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้บริโภค จนกลายเป็นวิถีปกติใหม่ (New Normal) ในการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน
รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่เราเรียกว่า 3 Mega Trends ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งประกอบด้วย การให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย (Wellness) ซึ่งเป็นเรื่องที่มาพร้อม ๆ กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การออกแบบที่อยู่อาศัยและการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต้องคำนึงถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย ลดการสัมผัส (Touchless) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งในพื้นที่โครงการที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ เป็นโจทย์ใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันและในอนาคต
นอกจากเรื่องของสุขอนามัยที่เป็นโจทย์หลักของผู้บริโภคในปัจจุบันแล้ว การออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่สร้างสมดุลให้กับการใช้ชีวิตในรูปของการทำงานและการใช้ชีวิตที่ต้องดำเนินไปอย่างสมดุล (Work-Life Balance) ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ที่ลงตัวตอบทุกโจทย์ของการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยในแนวราบ หรืออาคารชุดที่มีขนาดเล็ก ต้องมีการจัดฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีความหลากหลายและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน (Multi-Function) เพื่อรองรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่บ้านได้ การเว้นระยะห่างในพื้นที่ส่วนกลาง การปรับเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมแบ่งปันในรูปแบบของ Co-Working Space มาสู่แนวคิดการใช้พื้นที่ส่วนกลางในรูปแบบของ Co-Separate Space เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันแบบมีระยะห่าง ทำให้การออกแบบการใช้พื้นที่ส่วนกลางในโครงการทั้งแนวราบและอาคารชุดต้องเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบเช่นเดียวกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล (Virtual Livable Connect) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการ ตอบโจทย์กับแนวคิดการใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แนวทางการออกแบบที่ตอบโจทย์ Mega Trend ที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องนำเอาแนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า การออกแบบเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Design) เป็นแนวคิดของการออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานอาคารอย่างยั่งยืน โดยการออกแบบคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุ การใช้พลังงานและทรัพยากรของอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ คาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในอากาศ รวมถึงเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างประหยัด เพื่อตอบโจทย์กับการสร้างสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัยทั้งในรูปแบบของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เกณฑ์อาคารเขียวของ US Green Building Council และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability ) ของสถาบันอาคารเขียวไทย
การออกแบบภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการออกแบบที่มีประสิทธิภาพอย่าง Building Information Modeling หรือ BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพในการบริหารการออกแบบและการก่อสร้างโครงการโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การจัดฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีการอยู่อาศัยเข้าไปใช้ในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์กับรูปแบบการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพและสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
แนวโน้มดังกล่าว ทำให้ความต้องการที่ปรึกษาและนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบเพื่อความยั่งยืน มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของ LPN Wisdom ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านวิจัยและที่ปรึกษาด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ในการให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการออกแบบให้กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ปัจจุบันบริษัทเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารเขียวภายใต้เกณฑ์ LEED ให้กับโครงการต่างๆ ทั้งในเครือของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) และบริษัทอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน PUNN ของ บริษัท ดลสิริ จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)) และเป็นที่ปรึกษาด้านอาคารเขียวภายใต้เกณฑ์ TREES ให้กับโครงการ ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี-จตุจักร ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของผู้ประกอบการอื่นๆ นอกเหนือจากบริษัทในเครือของ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากงานที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารเขียวแล้ว บริษัทยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำหลายบริษัทที่ต้องการปรับใช้ระบบ Building information modeling เพื่อใช้ในการทำงาน โดยให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การจัดทำ BIM platform, มาตรฐานและคู่มือการใช้ BIM ขององค์กร, การจัดตั้งฝ่าย BIM ไปจนถึงการใช้ BIM เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ตามเป้าหมายของเจ้าของโครงการ
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยมีอาคารที่ได้รับ LEED Certification จาก US Green Building Councilทั้งสิ้น 171 อาคาร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 85 อาคาร ในขณะเดียวกันมีอาคารที่ได้รับ TREES Certification จาก สถาบันอาคารเขียวไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งสิ้น 63 อาคาร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 55 อาคาร
“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีความต้องการที่ปรึกษาในการออกแบบโครงการทั้งในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Design) รวมถึงเทคโนโลยีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพอย่าง BIM จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่มีองค์ความรู้และบุคลากรในด้านนี้ ในการให้คำแนะนำและให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการในการพัฒนาโครงการทั้งในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึง สุขภาพ (Wellness) การออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างสมดุล (Work-Life Balance) และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิต (Virtual Livable Connect)” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว