กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--วารีวิทยา
เขตพื้นที่ EEC เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจอย่าง “ทุเรียน” ที่สร้างรายได้จากการส่งออกมากถึงปีละกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีผลไม้เศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นั่นหมายความว่าพื้นที่ EEC มีสวนผลไม้และมีพื้นที่ในการทำเกษตรจำนวนมาก ทั้งนี้งานวิจัยด้านสมดุลน้ำพบว่า ภาคการเกษตรเป็นกลุ่มที่มีการใช้น้ำมากที่สุด แต่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำต่อพื้นที่ได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพชลประทาน และปรับวิธีการให้น้ำ
เมื่อ “ทุเรียน”เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เกษตรกรจึงหันมาเพาะปลูกกันมากขึ้น เฉพาะในภาคตะวันออก ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนไม่น้อยกว่า 350,000 ไร่ เฉพาะระยองจังหวัดเดียวมีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 40,000-50,000 ไร่ และยังคงมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรได้เปลี่ยนพืนที่ปลูกยางพาราหันมาปลูกทุเรียนแทบทุกวัน ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือปริมาณน้ำต้นทุนของภาคตะวันออกจะมีเพียงพอหรือไม่ ขณะที่ EEC กำลังประสบกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำ
เมื่อมองกลับมาที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ภาครัฐผลักดันส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และจะเกิดการอพยพของประชากรเข้ามาในพื้นที่อย่างมหาศาล ทำให้ความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่อการพัฒนาเต็มรูปแบบในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2580 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นั่นหมายความว่า อาจเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำ และเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคการผลิต และภาคการเกษตรได้
จึงเป็นที่มาของโครงการ “ศึกษาปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อการรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” 1 ในแผนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ มีเป้าหมายเพื่อปรับพฤติกรรมการประหยัดน้ำ หรือลดการใช้น้ำต้นทุนลงอย่างน้อย 15% ในพื้นที่ EEC โดยโครงการฯ เน้นการทำวิจัยด้วยกัน 2 ส่วน คือ การสำรวจเก็บข้อมูลชนิดพืชและปริมาณความต้องการน้ำในภาคตะวันออก โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบในอนาคต และศึกษาการปลูกและการใช้น้ำที่แท้จริงของทุเรียน
ดร.ทรงศักดิ์ ภัทราวุฒิชัย จากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ น้ำ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพ ยังมีปัจจัยการผลิตอื่น เช่น ดิน ธาตุอาหาร และคุณภาพของน้ำ รวมถึงสภาพอากาศ การให้น้ำมากเกินไปไม่ได้หมายความว่าทุเรียนจะได้คุณภาพเพิ่มขึ้น การให้น้ำที่พอดีจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรก เพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นจริงว่า ทุเรียนไม่ได้ต้องการน้ำปริมาณมาก แค่ให้น้ำอย่างพอดี คุณภาพทุเรียนก็ยังคงเหมือนเดิม”
ดร.ทรงศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวอีกว่า “ก่อนที่จะทำการศึกษาวิธีการปลูกทุเรียนในการวิจัย ได้รับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนส่วนใหญ่ให้น้ำต้นทุเรียนมากกว่าความต้องการใช้น้ำของพืช เพราะผู้รับซื้อทุเรียน (ล้งจีน) เชื่อว่ายิ่งให้น้ำมากผลผลิตทุเรียนจะมีคุณภาพมาก ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกิดจากมโนคติกลัวความผิดพลาด แม้ที่ผ่านมาจะทราบกันอยู่แล้วถึงความต้องการใช้น้ำของทุเรียน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ต้องให้น้ำเกินความต้องการ โครงการนี้ฯ จึงเลือกทุเรียนมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำจริงของต้นทุเรียน เพราะขณะนี้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ EEC”
วิธีการผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก เกษตรกรจะมีช่วงเวลาทำงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน (ระยะเวลา 6 เดือน) โดยในช่วงแรกหลังการงดน้ำทำดอก ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ชาวสวนทุเรียนทั่วไปนิยมให้น้ำอยู่ที่ปริมาณ 150 ลิตรต่อต้นต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 200-300 ลิตรต่อต้นต่อวันในช่วง 3 เดือนหลังระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลทุเรียนมีขนาดเท่ากระป๋องนมจนถึงผลโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว แต่จากการทดสอบการใช้น้ำของต้นทุเรียน พบว่า ความต้องการใช้น้ำของทุเรียนหนึ่งต้นใช้น้ำไม่ถึง 100 ลิตรต่อวันในช่วง 3 เดือนแรก และไม่เกิน 150 ลิตรต่อต้นต่อวันในช่วง 3 เดือนหลัง จึงได้ทดลองให้น้ำวันละ200 ลิตรต่อต้นต่อวัน พบว่าผลผลิตที่ได้มีปริมาณและคุณภาพดี จึงเป็นการยืนยันว่าปริมาณน้ำที่ให้ลดลงไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนแต่อย่างใด
ดร.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า การวิจัยดังกล่าว ทางคณะผู้วิจัยใช้พื้นที่สวนปฐพี ตำบลท่าพริก อำเภอเมือง จังหวัดตราด ในการทดสอบการใช้น้ำของต้นทุเรียน ทั้งนี้จากการนำเครื่องมือ sap flow ติดตั้งที่ลำต้นของทุเรียน เพื่อวัดการใช้น้ำผ่านท่อลำเลียงน้ำ (xylem) โดยการวัดความต่างศักย์ไฟฟ้าเพื่อวัดอัตราการไหลของน้ำในลำต้นช่วงเวลาต่างๆ และมีการจัดการเก็บข้อมูลทุกสัปดาห์ นอกจากจะได้ปริมาณตัวเลขยืนยันความต้องการน้ำที่แท้จริงของต้นทุเรียนแล้ว ยังพบความน่าสนใจในเชิงสรีรวิทยาของพืชทำให้ได้รู้ช่วงเวลาที่ทุเรียนต้องการใช้น้ำ กี่โมงถึงกี่โมง และช่วงเวลาไหนที่ไม่ต้องการ
“การทดลองวิจัยครั้งนี้ จึงพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า การปลูกทุเรียนไม่จำเป็นต้องให้น้ำในปริมาณมาก และนอกจากเกษตรกรจะได้ทราบถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการให้น้ำทุเรียนแล้ว ยังช่วยประหยัดหรือลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำราคาแพงเพื่อนำมารดสวนทุเรียนในช่วงหน้าแล้งได้อีกด้วย โดยจะเห็นได้จากปริมาณการใช้น้ำของสวนทุเรียนต้นแบบในพื้นที่ 10 ไร่ ช่วง 6 เดือนของการปลูกทุเรียน ปริมาณน้ำที่ใช้ทั้งหมด 4,152 ลูกบาศก์เมตร ลดลงจากวิธีการเดิมที่มีการใช้น้ำ 6,576 ลูกบาศก์เมตร ชี้ให้เห็นว่าการให้น้ำ 200 - 300 ลิตรต่อต้นต่อวันของเกษตรกรที่ผ่านมาทำให้เสียน้ำไปกับการระเหยที่ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้นด้วยวิธีการนี้จะทำให้ชาวสวนทุเรียนสามารถลดการใช้น้ำลงได้ถึง 35-40% มากกว่าเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้”
แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ จะมีเกษตรกรปรับพฤติกรรมลดการใช้น้ำของต้นทุเรียนลงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวนักวิจัยเองก็ยอมรับว่ายังเป็นสิ่งที่ยาก เพราะทุเรียนเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงอาจทำให้ไม่กล้าเสี่ยง อย่างไรก็ตามทางคณะวิจัยเตรียมนำข้อค้นพบที่ได้ไปสร้างความเข้าใจกระบวนการการใช้น้ำของต้นทุเรียนและถ่ายทอดเทคนิคองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเตรียมจัดอบรมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวกับและเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความสนใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประหยัดน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ในฐานะหัวหน้ากลุ่มแผนงานเพื่อการพัฒนาบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า เพราะความมั่นคงด้าน “น้ำ” ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคงด้านอื่นๆ การบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC วิธีการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน คือ ต้องลด demand และสร้างสมดุลการใช้น้ำในพื้นที่ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องลดการใช้น้ำลงทั้งหมดขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้น้ำด้วย
“ภาคเกษตรเป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่ผ่านมาการใช้ทรัพยากรน้ำต้นทุนส่วนมากเป็นไปเพื่อการเกษตร ดังนั้น การดำเนินการวิจัยส่วนหนึ่งของโครงการ จึงมีการศึกษาถึงความต้องการใช้น้ำในภาคเกษตรอย่างเจาะลึกในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาสมดุลน้ำ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาพิสูจน์ให้เห็นในเชิงประจักษ์ เริ่มจากพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดี แต่ใช้น้ำมากที่สุด คือ “ทุเรียน” ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรใช้น้ำเต็มที่เพราะเป็นพืชมีมูลค่าสูง เพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่เราพูด สามารถลดการใช้น้ำได้จริง และยังคงคุณภาพผลผลิตได้เหมือนเดิม หลังการทดลองจะทำตารางปฏิทินการให้น้ำทุเรียนว่ามีความต้องการใช้น้ำจริงของพืชเป็นตัวเปรียบเทียบ และจะขยายผลไปยังสวนทุเรียนอื่นๆ ผ่านเกษตรกรระดับแกนนำ พร้อมตั้งเป้าปีหน้าจะทำการทดลองกับ “มังคุด”เป็นลำดับต่อไป”
ที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนมากถูกจัดสรรเพื่อภาคการเกษตร แต่ต่อไปนี้น้ำไม่ได้เพื่อการเกษตรอย่างเดียว แต่ต้องใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การบริการ การอุตสาหกรรม และเพื่อรักษาระบบนิเวศ ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน