กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า
โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ไม่หวั่นสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้งดกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าผลิตสื่อ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และขยะที่ปัจจุบันนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า
ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19
แม้ปัจจุบันสถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี
และยังไม่สามารถจัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ
และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ในระหว่างนี้ ทางโครงการฯ จึงได้เร่งเดินหน้าสร้างความรู้
ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และขยะที่ปัจจุบันนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ทางโครงการฯ ได้ดำเนินการผลิตสื่อที่มีการจัดทำเนื้อหาแบ่งเป็น
3 ส่วนหลัก คือ นำเสนอภาพรวมของโครงการ
การให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลังงานจากแสงอาทิตย์ การให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลังงานจากขยะ
ผ่านสื่อในรูปแบบสารคดีสั้นทางวิทยุ โทรทัศน์ และอินโฟกราฟฟิก
รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารในรูปแบบการประชาสัมพันธ์ อาทิ การให้สัมภาษณ์จากแหล่งข่าวที่เป็นผู้เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
(สำนักงาน กกพ.) / ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน และผู้บริหารโครงการฯ
รวมถึงการจัดทำสกู๊ปพิเศษ ข่าว
และภาพข่าวประชาสัมพันธ์ โดยสามารถติดตามข่าวสารได้จากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์
และสื่อออนไลน์
“โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า
ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดกิจกรรมอย่างเข้มข้น
ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องพลังงานทางเลือกแก่สื่อมวลชนใน 6 ภูมิภาค พร้อมนำสื่อมวลชนไปศึกษาการทำงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ทำให้สื่อมวลชนมีความเข้าใจ
และรับรู้ถึงประโยชน์ของพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะมากขึ้น แม้โครงการฯ จะหยุดกิจกรรมไปตั้งแต่เดือนเมษายน
2563 จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แต่ปัจจุบันก็ได้เร่งเดินหน้าสร้างความรู้
ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และขยะ
ผ่านการผลิตสื่อในช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน” นางดรุณวรรณ
กล่าว
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย
ได้ยกตัวอย่างเนื้อหาที่นำมาเสนอเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานสะอาด
โดยระบุว่า
จะใช้รูปแบบการนำเสนอแบบตั้งคำถามพร้อมกับให้คำตอบชี้ให้เห็นว่าเฉลี่ยคนไทยแต่ละคนก่อให้เกิดขยะ
วันละประมาณ 1.2 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่มาก
ขยะส่วนใหญ่จึงต้องมีการกำจัดอย่างถูกต้องหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ แต่ยังเหลืออีกประมาณหนึ่งในสี่ที่ยังไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง
ปล่อยให้ตกค้างสะสม ส่งกลิ่นเน่าเหม็นอยู่ในกองขยะกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ซึ่งสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานได้ด้วยการนำขยะส่วนเกินไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า
นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย
พลังงานจากขยะยังถือเป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ด้วย