กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--คณะที่ปรึกษาโครงการจัดทาแผนแม่บทดิจิทัลฯ
“สนธยา” ผนึกทุกภาคส่วนเดินหน้าแผนแม่บทดิจิทัลพัทยา ยกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจใน EEC ชูยุทธศาสตร์ NEO Pattaya รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่หลังโควิด-๑๙ เน้นความเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ประชาชนได้รับประโยชน์ นำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจ ท่องเที่ยวและการใช้ชีวิต คาดปริมาณคนเข้ามาถึง ๗๐ ล้านคน ด้าน ม.บูรพาวางพิมพ์เขียว ๘ กลยุทธ์ สร้างแพลตฟอร์มบริการภาครัฐรวดเร็วโปร่งใส การศึกษาสมัยใหม่ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิต การจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ฯลฯ
เมืองพัทยาและมหาวิทยาลัยบูรพา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำเสนอแผนแม่บทดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ-การสื่อสารเมืองพัทยา และปรับปรุงข้อมูลทรัพยากรภูมิสารสนเทศขนาดใหญ่ของเมืองพัทยา (ระยะเวลา ๕ ปี) (พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๘) โดยมี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วม ๔๐๐ คน ณ สวนนงนุชเทรดดิชั่นเซ็นเตอร์ ฮอลล์ ๑ ชลบุรี
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การลงทุน การคมนาคมขนส่งแห่งภาคตะวันออก ตามยุทธศาสตร์ “NEO Pattaya” โดยขณะนี้เราพร้อมแล้วที่จะนำโรดแมปตาม “แผนแม่บทเมืองดิจิทัลพัทยา” สร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะ ๕ ปีข้างหน้า มีเป้าหมายไปสู่ Smart City ที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ทั้งด้านการท่องเที่ยว การทำธุรกิจ และการพักอาศัย ผสมผสานอย่างลงตัว เช่นเดียวกับเมืองนานาชาติระดับโลก
นายสนธยา กล่าวว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง ๑.๕ ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินนั้น เมื่อแล้วเสร็จในช่วง ๕ ปีข้างหน้าจะทำให้มีคนไทยและทั่วโลกเข้ามาพัทยาถึง ๗๐ ล้านคน ไม่เพียงนักท่องที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน แต่ทุกระดับ พนักงาน ลูกจ้าง ก็จะเข้ามาพักอาศัย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวางโรดแมป
เมืองพัทยายุคใหม่จะยกระดับเทคโนโลยี (Digital Transformation) สร้างความความสะดวกสบายให้ประชาชนผ่าน แพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ บริการภาครัฐที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสทำธุรกิจคนรุ่นใหม่ นำระบบดิจิทัลพัฒนาการขนส่ง จราจร ท่องเที่ยว การแพทย์ การวางผังเมือง สิ่งแวดล้อม รวมถึงความสามารถในการแข่งขันทำให้พัทยาโดดเด่นเป็นศูนย์กลาง EEC
“แผนแม่บทดิจิทัลพัทยาที่ประกาศวิสัยทัศน์วันนี้มีความสำคัญมาก เป็นการพลิกโฉมเมืองพัทยาหลังผ่านวิกฤตโควิด-๑๙ ไปสู่การเป็นเมืองนานาชาติที่สมบูรณ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการและให้บริการประชาชน ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเดินสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ NEO Pattaya เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการท่องเที่ยวและนักธุรกิจ เป็นเมืองศูนย์กลางแห่ง EEC ได้อย่างแท้จริง”
แผนแม่บทดิจิทัลฯเป็นความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยาและมหาวิทยาลัยบูรพา โดยคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ เน้นการวางแผนดำเนินการใน ๘ กลยุทธ์ ๑. พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยดิจิทัล ๒. พัฒนาบุคลากรเมืองพัทยา ครู และนักเรียนสังกัดเมืองพัทยา ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ๓.พัฒนาบริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ๔. พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง เมืองพัทยา ๕. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ๖. จัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ๗. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามกรอบ “เมืองอัจฉริยะ” และ ๘. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามกรอบความพร้อมเป็น “รัฐบาลดิจิทัล”
ทั้งนี้ แผนแม่บทดิจิทัลพัทยาช่วง ๕ ปีข้างหน้า จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่หรือ Big Data มาเชื่อมต่อกับทุกระบบการทำงาน พัฒนาแอปพลิเคชันเข้าถึงประชาชนในทุกระดับ สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย ๓ ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ใช้ระบบ ๓ มิติพลิกโฉมการท่องเที่ยวเพิ่มรายได้สู่ท้องถิ่น การติดต่อราชการรวดเร็วโปร่งใส ด้านการอยู่อาศัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอด ๒๔ ชั่วโมง ด้วยระบบกล้องวงจรปิดเชื่อมต่อห้องสั่งการเมืองพัทยา
ระบบสาธารณสุขนำนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การจองคิวรับบริการไม่ต้องรอนานหรือมีบริการให้คำปรึกษาแบบทางไกล (Telemedicine) ฯลฯ ส่วน ด้านการศึกษา ยกระดับเด็กและเยาวชนด้วยเรียนการสอนโดยใช้สื่อดิจิทัล ความรู้จากนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ และสร้างคนรุ่นใหม่ ฯลฯ
ด้าน นายกฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดีคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ พร้อมคณะ ได้นำเสนอแผนปฏิบัติงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแม่บทดิจิทัลฯ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในทุกๆ มิติ แก้ไขปัญหาในภาพรวมของเมืองพัทยาและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ได้แก่ ๑. แผนงานจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยดิจิทัลเพื่อพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ๒. แผนงานพัฒนาศักยภาพบริการภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ๓. แผนงานพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรองรับวิถีชีวิตประชาชน ๔. แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ๕. แผนงานส่งเสริมเมืองพัทยาเป็นองค์กรดิจิทัลสมรรถนะสูงมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะและเป็นรัฐบาลดิจิทัล
“เมืองพัทยาในอนาคตจะเป็นดิจิทัลออฟฟิส ลดสำเนา ลดความยุ่งยากต่างๆ สำหรับประชาชน ไม่ต้องมารอคิวนานๆ พัฒนาเทคโนโลยีที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีไลน์พัทยาเพื่อสนับสนุนการให้บริการ เช่น จองคิวโรงพยาบาล บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ปัญหาน้ำไฟฟ้า ความปลอดภัย มีตัวกลางช่วยประสานให้ได้รับความสะดวก” นายกฤษนัยน์กล่าว
นอกจากนั้น เมื่อประชาชนมีปัญหาโทรแจ้งขอความช่วยเหลือ เช่น น้ำท่วม อุบัติเหตุ อาชญากรรม ฯลฯ จะส่งโดรนออกไปล่วงหน้าและรายงานกลับมาแบบเรียลไทม์ ก่อนส่งเจ้าหน้าที่ไปจุดเกิดเหตุ จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในที่สาธารณะ และแก้ปัญหาเรื่องการจราจร เพิ่มความมั่นใจเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองพัทยามากขึ้น