ไทยพาณิชย์ผนึก depa และ AIT สร้างหลักสูตรการเรียนแบบดิจิทัล (Digital Learning) เพิ่มทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลป้อนตลาดแรงงานรับมือโลกยุคใหม่

ข่าวทั่วไป Friday June 26, 2020 11:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ผุดโครงการ “Data Analytics for Upskilling” ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อป้อนตลาดแรงงานรับความท้าทายโลกยุค New Normal นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโลกยุค New Normal ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรทั้งรัฐและเอกชนต้องเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีทักษะด้านวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) เพราะข้อมูล (Data) คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ประเทศกำลังอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็ว จนทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงเร็วด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้องค์กรธุรกิจชั้นนำหันมาสนใจเรื่องของ Data และการแปลง Data ให้ออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ จึงเห็นว่า Data Analytics Skill กลายเป็นประเด็นที่องค์กรธุรกิจยุคใหม่ต่างพูดถึงและให้ความสำคัญ ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ มีหน่วยงาน SCB Academy ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในด้านต่างๆ ให้กับบุคลากรทั้งภายในและภายนอกธนาคารผ่านเนื้อหาหลักสูตรในรูปแบบที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้เรียนและองค์กร สำหรับความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ในการจัดทำโครงการ “Data Analytics for Upskilling” นั้น SCB Academy ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ทั้งในส่วนของเนื้อหา กรณีศึกษา วิธีการฝึกปฏิบัติ ตลอดจนบททดสอบในทุกๆ บทเรียน เพื่อให้มั่นใจว่าความรู้ เทคนิค ตลอดจนทักษะเบื้องต้นที่ได้รับการพัฒนาจะตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของทั้งผู้เรียนและของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกของสามองค์กรชั้นนำ depa, AIT และ SCB ในการผนึกกำลังเดินหน้าร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการส่งเสริมทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับบุคลากรและกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Data Analytics for Upskilling) เพื่อเตรียมความพร้อมทักษะกำลังคนเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงสนองตอบต่อความต้องการของสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กรทั้ง ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างทั้งสามฝ่ายในการยกระดับการพัฒนาหลักสูตรหรือการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา และนักศึกษาจบใหม่ หรือ คนที่กำลังจะเข้าตลาดแรงงาน หรือ คนทำงานในปัจจุบันที่ต้องการ Upskill และบุคลากรทั่วไปในองค์กรที่ต้องการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมโครงการ “Data Analytics for Upskilling” ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลา 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ดร.นาวีด อันวาร์ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา ตลาดแรงงาน ส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่ชัดเจนเกี่ยวกับความจำเป็นของกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ซึ่งรูปแบบการศึกษาแบบเก่าอาจไม่สามารถรองรับการสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ตลอดชีวิตได้อีกต่อไป ผู้ประกอบอาชีพต้องปรับตัวและพร้อมเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ ขณะที่อุตสาหกรรมต้องพัฒนาทักษะของลูกจ้างให้เหมาะสม ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับยุคข้อมูลข่าวสารคือ รูปแบบที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ซึ่งมวลชนหมู่มากสามารถเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมกับความสนใจและความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ อาทิ หลักสูตรออนไลน์แบบเปิดสำหรับมวลชน Massive Open Online Courses (MOOCs) สื่อวีดิทัศน์ (Youtube) เกมคอมพิวเตอร์ (Games) สื่อสังคม (Social Media) สื่อทางเสียง (Audiobooks and Podcasts) จึงนับเป็นโอกาสดีของคนรุ่นใหม่สามารถเลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้ ข้อแตกต่างของผู้เข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ ภายใต้โครงการนี้ เมื่อเทียบกับการเรียนในหลักสูตรอื่นๆ คือ ผู้เรียนจะได้เรียนแบบเน้นการฝึกปฏิบัติจริง นำไปใช้ได้จริง โดยผู้จัดทำหลักสูตรมีการสำรวจความต้องการและทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อออกแบบหลักสูตรที่นำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ใช้ระยะเวลารวมในการเรียนรู้เพียง 10 ชั่วโมง โดยผ่านการเรียนรู้แบบแบบดิจิทัล (Digital Learning) Anywhere Anytime Anyone ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้เรียนสามารถบริหารจัดการเวลาเรียนได้ตามความต้องการ นายวรวัจน์ กล่าวปิดท้ายว่า ในยุคที่เทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนอยู่ทุกวินาที ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค การเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ เพื่อคาดคะเนพฤติกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลถือเป็นคลังอาวุธชิ้นใหม่ที่หากองค์กรใดครอบครองฐานข้อมูลเหล่านี้ไว้ได้มาก องค์กรนั้นก็จะยิ่งเข้าถึงความต้องการ และครองใจผู้บริโภคมากเท่านั้น ธนาคารไทยพาณิชย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการใช้บุคคลากรที่มีความสามารถในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ ตลอดจนพัฒนาการตัดสินใจในด้านต่างๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่ง “Big Data” กลายเป็นสิ่งมีค่าขององค์กรในทุกอุตสาหกรรม นั่นเท่ากับว่าความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเท่านั้น และเทรนด์นี้ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสระยะสั้น แต่เป็นแนวโน้มในระยะยาวทั้งในวันนี้ และอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ