กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ไอเวิร์คพีอาร์
หลาย ๆ คนมักจะเข้าใจว่าแพทย์รักษาโรคผิวหนัง โดยส่วนใหญ่คงจะดูแต่เรื่องของความสวยความงาม แต่จริง ๆ แล้ว แพทย์ผิวหนังสามารถจะทำอะไรให้กับสังคมได้มากกว่าที่คนอื่นคิด นพ.ธนะบุญ ประสานนาม เป็นแพทย์ที่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังประจำโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี แพทย์วัย 57 ปีท่านนี้ได้รับเลือกจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้เป็นแพทย์ดีเด่นของสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ประจำปี 2563 ในฐานะเป็นแพทย์ดีเด่นด้านการบริการชุมชน ผู้ดำเนินการ “โครงการสะพานบุญ” เพื่อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงผู้ยากไร้
นพ.ธนะบุญ ประสานนาม รองผู้อำนวยการและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังประจำโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี กล่าวว่า หลังจากจบแพทย์ก็เริ่มทำงานเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง แต่ว่าช่วงแรกผมดูทั้งคนไข้ผิวหนังและคนไข้โรคทั่วไป เรียกว่าตรวจทางด้านผิวหนังโดยเฉพาะแล้ว ก็ต้องช่วยทางแผนกอายุรกรรมไปด้วย นอกจากจะตรวจคนไข้นอกและตรวจคนไข้ในแล้ว ยังอยู่เวรห้องฉุกเฉินเหมือนกับแพทย์ทั่วไป ช่วงหนึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้เป็นหัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอก ซึ่งจะทำงานเชื่อมโยงไปสู่ชุมชน การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำให้เราเริ่มมองเห็นปัญหาของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ว่ามันคงไม่ใช่เพียงแค่ให้คนไข้หลั่งไหลเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เราเริ่มไปเยี่ยมบ้าน เราเริ่มไปดูแล สนับสนุนอนุเคราะห์ในเรื่องของความเป็นอยู่ เรื่องของเครื่องมือเครื่องใช้ การดูแลรักษาให้ครบทุกมิติ
“ผมทำงานด้านพัฒนาชุมชนมาประมาณ 5-6 ปี โดยเครือข่ายของโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จะแบ่งเป็นเขตอำเภอเมือง ซึ่งจะมีทั้งหมด 26 ตำบล และมีสถานีอนามัย แต่ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ทำให้ผมมองว่าคนไข้ที่อยู่นอกเขตโรงพยาบาลราชบุรี ก็ไม่จำเป็นต้องมาในโรงพยาบาลแล้ว ตรงนี้เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ คนไข้ก็พึงพอใจ แต่บางครั้งบางคราวเราก็ลงไปเยี่ยมในพื้นที่ คนไข้ที่นอนอยู่ติดบ้าน ติดเตียงต่าง ๆ แต่คนไข้บางคนไม่ได้ป่วยเฉพาะโรคผิวหนังอย่างเดียวป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ด้วย ถ้าเขาเป็นอยู่มันไม่สามารถควบคุมได้ เป็นประเด็นให้ผมคิดว่า บางทีเรามองกันมุมมองของแพทย์มันคงจะไม่ได้ เราอาจจะต้องเข้าไปดูว่าจริง ๆ แล้วโดยบริบทพื้นฐาน ความเป็นอยู่เขาเป็นอย่างไร แพทย์บางคนถ้าไม่ได้ไปเยี่ยมที่บ้านคนไข้อาจจะไม่รู้ว่าคนไข้คนนี้ ทำไมถึงขาดยา ทำไมคนไข้คนนี้ถึงปฏิบัติตัวไม่ได้ตามที่เราแนะนำ เช่น บอกให้กินอาหารหรือสิ่งที่มีประโยชน์ แต่พื้นฐานของครอบครัวไม่มีอะไรจะกิน พอเราเข้าไปถึงได้เห็นมุมมองของสภาพความเป็นจริง แต่การไปเยี่ยมบ้านทำให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วเขายังต้องการความช่วยเหลือหลาย ๆ ด้าน หรือสิ่งที่เราเรียนรู้ทางทฤษฎี ถ้าจะมาปรับใช้กับสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าจะทำอย่างไรบ้าง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดมากกว่า”
โดยปกติหากผมไม่ติดภารกิจอะไร ช่วงบ่ายก็จะไปกับทีมที่เรียกว่า เวชกรรมสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย หมอและกลุ่มงานพยาบาลชุมชน เราจะร่วมกันไป ซึ่งหลัง ๆจะเริ่มมีพันธมิตร มีการนำแพทย์เฉพาะทางไปดูแล คนไข้ที่เป็นเบาหวาน หรือคนไข้โรคไต ก็พาแพทย์โรคไตไปดูด้วย ตรงนี้เราทำงานร่วมกันเป็นทีม ไปถึงดูแลคนไข้ตรงพื้นที่ แก้ไขให้ตรงกับบริบทปัญหาที่เขาเป็น ซึ่งจะแก้ได้ถูกจุดมากกว่า แล้วแพทย์ก็มีความเข้าใจว่า จริง ๆ คนไข้เป็นแบบนี้นะ ทำให้เราทราบสาเหตุของการควบคุมโรคไม่ได้ เพราะเรามัวแต่พูดว่า อย่ากินโน่นอย่ากินนี่ แต่เขาไม่มีอะไรกิน สุดท้ายถ้าไม่มี สภาพฐานะของคนไข้เป็นแบบนี้จะแนะนำได้แค่ไหน หมอจะมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น จากที่เราไปเยี่ยมบ้าน จะเห็นว่าบ้านนี้นอนติดอยู่กับเตียง ขาดเตียงที่ดี ๆ เตียงที่เหมาะสมกับคนไข้ ไม่มีรถเข็นนั่งที่จะพาเขาออกมาข้างนอกได้ พอเราเห็นตรงนี้เราก็เริ่มบอกว่าเราจะช่วยเหลืออย่างไร เริ่มต้นจากทุนส่วนตัวก่อนเพราะเราไม่รู้จะช่วยอย่างไร ซื้อเตียง ซื้อที่นั่ง รถเข็นไปให้ พอไปสักระยะหนึ่งสิ่งที่เราทำดีคนไข้ได้ประโยชน์ เราลองโพสต์ลงเฟซบุกว่า ขาดตรงจุดนี้ยังมีคนไข้ที่ต้องการสิ่งที่สนับสนุนพวกนี้อยู่ มีใครสนใจอยากจะช่วยเหลือให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นหรือเปล่า ก็เลยเกิด โครงการสะพานบุญ ที่มีผู้มีจิตศรัทธาที่เห็นหลั่งไหลเข้ามาบริจาคเป็นจำนวนมาก หากทำให้มันไปในทางที่มีคุณค่าต่อสังคมมันก็เกิดขึ้นได้ พอเราทำแบบนี้ปรากฎว่าไม่น่าเชื่อคือน้ำใจของคนไทยมีค่อนข้างจะมาก สิ่งที่เราเห็นมันส่งไปถึงตัวผู้รับอย่างแท้จริง แล้วคุณภาพชีวิตเขาก็ดีขึ้น ตรงจุดนี้เหมือนเป็นโครงการที่ได้รับการสนใจ คนก็มาให้ความสนับสนุน ผมจำได้ว่าในช่วงหนึ่งปี มีคนไข้ที่ไปช่วยเหลือ 100 - 200 คน ได้อุปกรณ์ไปช่วยเหลือเยอะแยะมาก แล้วพอเราไปส่งเรามีการเชิญผู้ที่บริจาคมามอบให้ด้วยตัวเอง มันก็เกิดความชุ่มฉ่ำชุ่มชื่นใจ
ถึงตอนนี้โครงการสะพานบุญ เป็นการบอกต่อ เมื่อบอกต่อ ก็จะมีคนที่จะบริจาคอยู่เรื่อย ๆ พอบริจาคมาเราจะให้ทางพื้นที่เป็นคนดูแลรักษา สมมติว่าเมื่อคนไข้คนนี้หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ เราก็นำจัดส่งต่อให้คนไข้รายอื่น ๆ ต่อไป ก็จะเป็นการหมุนเวียนใช้กันอยู่ในชุมชน ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่ามีความภาคภูมิใจว่า เราไปดูแลเรื่องโรคผิวหนังแล้วยังดูเรื่องอื่น ๆ แล้วคนไข้ก็ได้ประโยชน์ แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ก็เหมือนกับพอสิ่งที่ได้มา เมื่อคนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วเราก็รู้สึกชื่นใจ สบายใจ ก็มีกำลังใจที่จะทำงานที่ดีต่อไป
จากประสบการณ์การทำงานที่ปัจจุบันใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ผมยึดมั่น เชื่อถือตลอดมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือว่า ทำสิ่งที่ดีให้กับคนที่อยู่ตรงหน้าให้ได้รับการดูแลในปัญหาที่เข้ามาหาเรา โดยที่ไม่ต้องคิดถึงว่า เขาจะให้อะไรเราเป็นการตอบแทน และที่สำคัญก็คือ สร้างคุณค่า เพราะว่าเดิมคนจะมองคิดว่า หมอทางผิวหนังจะดูในเรื่องความสวยความงามเป็นหลัก งานหนักไม่เอางานเบาไม่สู้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวอย่างให้แพทย์รุ่นน้อง ๆ ได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วถ้าเราทำงานแล้วเห็นคุณค่าของงานของเรา สุดท้ายเขาก็จะมองว่า ตัวเราเองก็จะเป็นหนึ่งในบุคลากรที่มีคุณค่าของประเทศได้