กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ปิดการขายหุ้น IPO จำนวน 438,780,000 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้นละ 34 บาท หลังนักลงทุนสถาบันและรายย่อยตอบรับจองซื้ออย่างคึกคักมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ จากจุดเด่นธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกในปัจจุบันและดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก เตรียมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ พร้อมนำเงินจากการระดมทุนใช้ขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาระบบไอที ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียน ชูแผนขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบันประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี เป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2575
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า ในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เมื่อวันที่ 23 – 25 มิถุนายนที่ผ่านมา สามารถปิดการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนทั้งสิ้น 438,780,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30.7 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ที่ราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้นละ 34 บาท โดยได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่จองซื้ออย่างคึกคัก โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่แสดงความต้องการจองซื้อในช่วงการทำ Bookbuilding อย่างคึกคักมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ เนื่องจากมั่นใจในศักภาพทางธุรกิจของ STGT ที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ จากทั่วโลก เพราะสามารถปกป้องการสัมผัสเพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัย นอกจากนี้ยังมีความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ STGT ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตถุงมือยางที่มีการส่งออกสินค้าจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกและไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ขณะที่สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางของโลกปี 2559 – 2562 มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 12% นอกจากนี้ COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะหลังจากเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ โดยใช้ชื่อย่อ 'STGT’ ในการซื้อขายหลักทรัพย์ คาดว่าจะได้รับความสนใจเช่นเดียวกับการเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันตอบรับการจองซื้ออย่างคึกคัก
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพผลิต ติดตั้งระบบ SAP ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งถุงมือยางรวมประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง และมีแผนงานขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง เป็นมากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2567 ทั้งการขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง และก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และที่จังหวัดชุมพร จากนั้นจะขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 70,000 ล้านชิ้นภายในปี 2571 และจะขยายเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นในปี 2575
นอกจากนี้บริษัทฯ วางแผนขยายตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ ซึ่งกำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย ดังนั้นอัตราการบริโภคถุงมือยางเฉลี่ยต่อคนต่อปีจึงมีโอกาสเติบในอนาคตโดย STGT จะใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์การเพาะปลูกยางพาราและอยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทฯ และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตถุงมือยาง
ส่วนภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ อาทิ ประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ ประเทศในแถบละตินอเมริกา ฯลฯ และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน