กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--บลจ.บัวหลวง
กองทุนบัวหลวงเปิดขายกองทุน BEQSSF และ BM70SSF ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ เป็นต้นไป โดยเงินที่ลงทุนหลัง 30 มิถุนายน 2563 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบ SSF ปกติ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับวงของเงินลงทุนเพื่อเกษียณอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
รายงานข่าวจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวงจะเปิดขายกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม (BEQSSF) และกองทุนผสมบัวหลวง 70/30 เพื่อการออม (BM70SSF) ในรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ปกติต่อทันที ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้เป็นต้นไป ให้ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้วงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุน SSF ปกติเข้าลงทุนได้ จากที่ก่อนหน้านี้เปิดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้วงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุน SSF พิเศษ ลงทุนมาแล้ว
การเปิดให้ลงทุนในรูปแบบ SSF ปกตินี้จะส่งผลให้ขนาดของทั้ง 2 กองทุนนี้ มีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากเม็ดเงินลงทุนใน SSF ปกติ ที่เข้ามาเพิ่มเติม ช่วยขยายโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้น ขณะที่ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2563 กองทุน BEQSSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 985.86 ล้านบาท และกองทุน BM70SSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 741.51 ล้านบาท หรือรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้ง 2 กองทุนมากกว่า 1,727.37 ล้านบาท
สำหรับเงื่อนไขการใช้วงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษี SSF ปกตินั้น ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับวงของเงินลงทุนเพื่อเกษียณอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดกองทุน BEQSSF และ BM70SSF หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและคู่มือการลงทุนได้ที่ กองทุนบัวหลวง โทร. 0 2674 6488 กด 8 หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนขายของกรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส บมจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ ภัทร บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี และ บจ.หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต