กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.48) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีสูบน้ำคลองพระโขนง ในการเตรียมความพร้อมป้องกันและรับสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วม ในฤดูฝนนี้ โดยมี ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ข้าราชการเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำให้การต้อนรับ
เดินเครื่องสถานีสูบน้ำพระโขนง แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองชั้นใน
สถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีความสามารถในการสูบน้ำได้ 173 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีเครื่องสูบน้ำรวม 51 เครื่อง มีประตูระบายน้ำ เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ ทำการสูบและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนง คลองประเวศบุรีรมย์ คลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประสิทธิภาพของสถานีสูบน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 360 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรี หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวางและลาดพร้าว รวมทั้งทำการถ่ายเทน้ำในคลองพระโขนงเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองชั้นในของกรุงเทพมหานครได้บางส่วน ซึ่งการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ได้ทดลองเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าหากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจะสามารถระบายได้ทันที
เตรียมพร้อมแหล่งจ่ายไฟฟ้า และสถานีสูบน้ำทุกแห่ง
นอกจากสถานีสูบน้ำคลองพระโขนง กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ 109 แห่ง มีเครื่องสูบน้ำ 1,436 เครื่อง กำลังสูบ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มจากปี 2547 ถึง 14% มีประตูระบายน้ำ 176 แห่ง บึงรับน้ำ(แก้มลิง) 20 แห่ง สามารถรับน้ำได้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตรไว้พร้อมแล้วทั้งหมด ส่วนการป้องกันกรณีกระแสไฟฟ้าขัดข้องนั้น จะประสานกับการไฟฟ้านครหลวงเพื่อหาสถานที่สำรองไฟ อีกทั้ง กทม.ได้เตรียมแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไว้ที่สถานีสูบน้ำหลักแห่งละ 2 แหล่ง และเตรียมเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองไว้ 16 เครื่อง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดใช้น้ำมันดีเซลในสถานีสูบน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมเพิ่มเติมอีก 90 เครื่อง นอกจากนั้นยังได้เร่งลอกท่อระบายน้ำซึ่งในขณะนี้ลอกได้ 2,440 กิโลเมตร จากทั้งหมด 3,700 กิโลเมตร ทำได้เร็วกว่าแผน 10% การขุดลอกคลองและเปิดทางน้ำไหล พร้อมลดจุดอ่อนน้ำท่วม ทำได้แล้วเสร็จ 1,015 กิโลเมตร จากทั้งหมด 1,285 กิโลเมตร เร็วกว่าแผน 14%
ระดมเจ้าหน้าที่เต็มอัตราประจำพื้นที่ พร้อมลดจุดอ่อนน้ำท่วม
ส่วนด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน กรุงเทพมหานครได้เตรียมเจ้าหน้าที่ทั้งการปฏิบัติงานระบายน้ำ และช่างเครื่องกรณีเครื่องสูบน้ำขัดข้องไว้เต็มอัตรากำลัง โดยได้เปิดศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง โทร.0 2246 0317-9 หรือ สายด่วนกทม. 1555 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจว่าหากฝนตกหนัก กรุงเทพมหานครจะสามารถระบายน้ำได้รวดเร็วทันการณ์
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้นโยบายในการลดจุดอ่อนน้ำท่วมกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ 14 จุดภายในปี 2551 โดยปี 2548 มีแผนการลดจุดอ่อนน้ำท่วม 2 แห่ง คือ ถ.ประชาสงเคราะห์และ ถ.กำแพงเพชร ปี 2549 จำนวน 3 แห่ง คือ ถ.จันทร์ (รวม ถ.เซ็นต์หลุยส์ และ ถ.สาธุประดิษฐ์) ถ.พระราม 6 ถ.ลาดพร้าว ปี 2550 จำนวน 4 แห่ง คือ ถ.แจ้งวัฒนะ ถ.พหลโยธิน ถ.สุขุมวิท ถ.พระราม 1 และปี 2551 จำนวน 5 แห่ง คือ ถ.เพชรเกษม ถ.เพชรบุรี(แยกราชเทวีถึงประตูน้ำ ถ.พหลโยธิน ถ.ศรีนครินทร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่(เขตห้วยขวาง)
สิงหาคมนี้ เริ่มใช้ระบบแจ้งเตือนน้ำท่วมล่วงหน้า
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กทม.จะนำระบบแจ้งเตือนน้ำท่วมล่วงหน้ามาใช้ ซึ่งจะเชื่อมโยงการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝน ระยะเวลา และพื้นที่ที่ฝนจะตก แจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 3 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางที่อาจเกิดน้ำท่วมขัง คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคมนี้ระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จและสามารถใช้ได้ทันช่วงเวลาที่จะมีปริมาณฝนตกหนักได้--จบ--