กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมา พบการแจ้งเหตุอุบัติเหตุลดลงครึ่งหนึ่ง ทว่าตัวเลขของการเสียชีวิต หรือการบาดเจ็บแบบทุพลภาพกลับลดลงประมาณร้อยละ 10-20 ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ตัวเลขอุบัติเหตุลดลง แต่ความรุนแรงของอุบัติเหตุสูงขึ้น เนื่องจากมีความระมัดระวังน้อยลง ทั้งในเรื่องการใช้ความเร็ว และการปฏิบัติตามกฎจราจร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง หัวหน้าภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติ Covid-19 อุบัติเหตุบนท้องถนนมีลดลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กันแต่ที่บ้าน เดินทางน้อยลง ซึ่งคนมีความตื่นตัวกับเรื่องการแพร่ระบาดของ Covid-19 กันค่อนข้างมาก แต่จริงๆ แล้วเมื่อเทียบกับการเสียชีวิตบนท้องถนน มีตัวเลขน้อยกว่ามาก โดยปัจจุบันทั่วโลกเสียชีวิตจาก Covid-19 ไปแล้วประมาณ 5 แสนคน ในขณะที่การเสียชีวิตบนท้องถนนมีตัวเลขอยู่ที่ถึงประมาณ 1.3 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2563 มีการเปิดภาคเรียนทั้งของสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่ต้นเดือน อีกทั้งในช่วงปลายเดือน ครม.ประกาศให้มีวันหยุดราชการพิเศษต่อเนื่อง 4 วัน ประชาชนออกมาใช้รถใช้ถนนกันมากขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนก็มีโน้มเพิ่มมากขึ้นไปด้วย จึงเกิดคำถามที่ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะรณรงค์เรื่อง Road Safety ไปกับเรื่อง Covid-19
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาพบว่า การกดดันทางสังคมด้วยโซเชียลมีเดีย (Social Pressure) หรือการเผยแพร่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้สังคมตัดสินผ่านสื่อโซเชียล ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกคนมีธรรมชาติที่กลัวการขาดการยอมรับ ถ้าเราร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนนควบคู่ไปกับเรื่อง Covid-19 จะทำให้เราไม่ประมาท และสามารถควบคุมอัตราการเสียชีวิตจากทั้งสองด้านได้ในขณะเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการป้องกัน Covid-19 ที่จริงจังด้วยมาตรการภาครัฐ ร่วมกับการใช้ Social Pressure จะเป็นแรงเสริมที่เห็นผลกว่าการใช้กฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียว
ในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมา ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการออกคู่มือที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องการป้องกัน Covid-19 และอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้แก่ คู่มือการป้องกัน Covid-19 ในสถานประกอบการ การป้องกันอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ รถขนส่ง รถบรรทุก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานประกอบการ โดยในส่วนของความปลอดภัยบนท้องถนน นักศึกษาของเราได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับการขนส่งสินค้า ซึ่งเชื่อมต่อกับ Google Map ที่ทำให้คนขับรถได้ศึกษาเส้นทาง และจุดเสี่ยงระหว่างการขับรถซึ่งสามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
“คิดว่าการรณรงค์เรื่อง Road Safety ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก เป็นจังหวะที่ดีที่จะทำพร้อมกับช่วง Covid-19 แพร่ระบาด ซึ่งในส่วนของมาตรการรัฐควรมีการรณรงค์ใช้รถจักรยานเพื่อลดความหนาแน่นบนรถขนส่งสาธารณะ และสำรวจ Demend และ Supply ของการเดินทางมาทำงานให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้รถสาธารณะแน่นเกินไปร่วมด้วย โดย ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งสุขภาวะและปลอดภัยต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง กล่าวทิ้งท้าย