กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ราช กรุ๊ป
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศการหยุดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไตรเอนเนอจี้หลังสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครบอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นับเป็นระยะเวลา 20 ปีที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้สนับสนุนภารกิจการผลิตไฟฟ้าเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ มาตั้งแต่ปี 2543 ด้วยกำลังการผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติจากพม่าเป็นเชื้อเพลิง ต่อจากนี้บริษัทฯ จะดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและรื้อถอนโรงไฟฟ้า โดยเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะสำรองไว้เป็นอะไหล่ ของโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทฯ ส่วนพื้นที่ของโรงไฟฟ้าขนาด 250 ไร่ ส่วนหนึ่งจะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังการผลิตตามสัญญารวม 1,400 เมกะวัตต์
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า ไตรเอนเนอจี้เป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP ที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. รอบปี 2537 เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 และบริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการแห่งนี้เมื่อปี 2546 และต่อมาในปี 2557 ได้เข้าถือหุ้นทั้งหมดในนามบริษัทย่อย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ได้ยึดถือภารกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยใส่ใจและให้ ความสำคัญอย่างจริงจังต่อการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด อีกทั้งยังได้เสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยรอบ ผ่านการจ้างงานท้องถิ่น การจ่ายภาษีท้องถิ่น เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ตอบสนองประเด็นปัญหาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
“โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ได้รับการยอมรับในระดับเอเชียแปซิฟิกให้เป็นตัวอย่างของการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจัดการสิ่งแวดล้อมก็เลือกใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในขณะนั้น นำมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับสากล และระบบการบริหารคุณภาพเพื่อความเป็นเลิศในการทำงานเข้ามาใช้ในการบริหารโรงไฟฟ้า ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนสามารถกำจัดและควบคุมได้ในระดับที่ดีกว่ามาตรฐานกฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีการดูแลชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการพัฒนาโครงการ มุ่งเน้นการจ้างงานท้องถิ่นเป็นลำดับแรกเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเมื่อปี 2550 มีการจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้นำส่งเงินกองทุนอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ 30-40 ล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อีกทั้งยังได้นำส่งภาษีท้องถิ่นเฉลี่ยปีละ 1-2 ล้านบาท ด้วย” นายกิจจา กล่าว
โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้กำหนดหยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างถาวรในวัน ที่ 30 มิถุนายน 2563 ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า ขณะนี้บริษัทฯ ได้มอบหมายให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจำหน่ายทรัพย์สินและรื้อถอนโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องสอดรับกับแผนการใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ขั้นตอนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2564
“บริษัทฯ ขอขอบคุณชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า ชาวจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ให้ดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจนสำเร็จในวันนี้ หลังจากนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง จะเข้ามาสานต่อภารกิจดังกล่าวควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพ ชีวิตของชุมชนที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด” นายกิจจา กล่าวปิดท้าย