กลุ่มบริษัทอิตัลไทย เร่งแผนฟื้น “ท่องเที่ยว–บริการ” เดินหน้าลงทุนขยายโรงแรมใหม่ อีก 12 แห่ง พร้อมเสริมทัพ “ก่อสร้าง–เครื่องจักรกล” ฝ่ามรสุมโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 1, 2020 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ริพเพิล เอฟเฟคท์ กลุ่มบริษัทอิตัลไทย เร่งแผนฟื้น “ท่องเที่ยว–บริการ” เดินหน้าลงทุนขยายโรงแรมใหม่ อีก 12 แห่ง พร้อมเสริมทัพ “ก่อสร้าง–เครื่องจักรกล” ฝ่ามรสุมโควิด-19 กลุ่มบริษัทอิตัลไทย เร่งฟื้นธุรกิจ “ท่องเที่ยว–บริการ” และเสริมทัพ “ก่อสร้าง–เครื่องจักรกล” หลังรัฐคลายล็อกดาวน์ ประเมินต้นปี 64 นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา เดินหน้าลงทุนตามแผนเปิด 12 โรงแรมใหม่รับอนาคต ชี้ “รัฐ-เอกชน” ต้องปรับตัวขนานใหญ่ พร้อมเสนอรัฐบาลต่ออายุมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการถึงสิ้นปี นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทย เปิดเผยภาพรวมธุรกิจหลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ว่า กลุ่มบริษัทอิตัลไทยเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่ด้วยพอร์ตธุรกิจที่มีหลากหลายด้านทำให้ภาพรวมยังคงเดินหน้าไปต่อได้ แม้ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก แต่ยังมีธุรกิจก่อสร้างเข้ามาช่วยประคอง จากวิกฤตโควิด-19 บริษัทฯ ประเมินผลกระทบแต่ละกลุ่มธุรกิจในระดับที่ต่างกันดังนี้ 1.กลุ่มกระทบระดับปานกลาง ได้แก่ “ธุรกิจก่อสร้าง” โดย บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม ที่ให้บริการรับเหมางานวิศวกรรมงานระบบและก่อสร้าง แม้ในส่วนงานอาคารสูงหลายโครงการจะชะลอตัวแต่ก็ไม่ถึงกับหยุดชะงัก ขณะเดียวกันยังมีงานในตลาดกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบน้อย เช่น งานสถานีไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี 2.กลุ่มกระทบระดับสูง “ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ” เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ทำธุรกิจกว่า 50 ปีครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุด การปิดโรงแรมชั่วคราวจากล็อกดาวน์ทำให้รายได้ในเครือทั้งไทยและต่างประเทศลดลงเกือบ 60–70% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพราะได้มีการกระจายพอร์ตธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ทั้ง 4-5 ดาว ทำให้ยังมีรายได้จากผู้เช่าระยะยาวและแขกผู้ประสงค์พักช่วงโควิด-19 เข้ามาต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ใช้เป็นโอกาสปิดปรับปรุงโรงแรมหลายแห่งในกรุงเทพฯ อาทิ อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ รวมถึงจัดอบรมพนักงานผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์พัฒนาทักษะให้พร้อมรับมือภาวะโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และล่าสุดจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้เปิดตัวโครงการ “ออนิกซ์ คลีน” เพื่อยกระดับมาตรการปฏิบัติการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ได้ประกาศใช้กับโรงแรมทุกแห่งในเครือ ภายใต้แบรนด์ อมารี โอโซ่ และชามา รวมถึงโรงแรมโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ “เครือออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าเปิดโรงแรมแห่งใหม่อย่างน้อย 12 แห่งภายใน 12 เดือนข้างหน้า พร้อมขยายเครือข่ายทั่วเอเชียแปซิฟิกรวมถึงจีน เพราะมองว่าถึงอย่างไรในอนาคตการเดินทางท่องเที่ยวก็ต้องกลับมา” ขณะเดียวกัน “ธุรกิจเครื่องจักรกล” โดย บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกับตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการจัดหาเครื่องจักรกลเข้ามาเพิ่มจากที่มี รถปูยางมะตอย แพลนท์ยางมะตอย รถปูคอนกรีตสำหรับกลุ่มงานถนน รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า และแท่นเจาะสำหรับกลุ่มงานเหมือง รวมถึงเสริมตลาดรอง เช่น ภาคการเกษตร นิคมอุตสาหกรรมด้วย และได้ขยายสาขาไปยังเชียงใหม่เพื่อรองรับตลาดทางภาคเหนือ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และภาคการเกษตร นายยุทธชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นความท้าทายใหม่ที่ผู้ประกอบการทั่วโลก ต้องมาทบทวนทิศทางธุรกิจว่าจะตั้งรับ หรือ สู้อย่างไรให้อยู่รอด โดยกลุ่มธุรกิจที่มี Value Chain เกี่ยวข้องต่างประเทศอาจยังมีอุปสรรคลากยาวถึงต้นปีหน้า ซึ่ง 3 ตัวแปรสำคัญ คือ “การควบคุมผู้ติดเชื้อ นโยบายกระตุ้นของภาครัฐประเทศต่างๆ และความสำเร็จของวัคซีน" ทั้งนี้หากไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงมาก คาดเริ่มทยอยกลับมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2564 ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดีมานด์ซัพพลายในประเทศ คาดกลับมาได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ แม้รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ แต่ตลาดท่องเที่ยวในประเทศอาจยังไม่กลับมาคึกคัก เพราะวิกฤตนี้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ความสะอาด สุขอนามัยมีผลต่อการตัดสินใจมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเฝ้าระวังมากขึ้นด้วย เพราะถ้าเกิดระบาดรอบใหม่จะกลายเป็น worst case ฉุดเศรษฐกิจลงจุดต่ำสุดอีกครั้ง “นโยบายภาครัฐและเอกชนคงต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เอกชนต้องพร้อมปรับตามความต้องการลูกค้าระยะสั้นมากขึ้นแต่จะมีผลต่อแผนงานระยะยาวต่อไปด้วย โดยธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกและธุรกิจสายการบิน ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 12-18 เดือน หรือ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย มองว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 24 เดือนถึงจะกลับมามีปริมาณเทียบเท่ากับเมื่อปี 2561 และเมื่อสถานการณ์เป็นปกติเศรษฐกิจโดยรวมก็จะปรับตัวแบบก้าวกระโดด” ในฐานะผู้ประกอบการ อยากเสนอให้รัฐบาลขยายมาตรการช่วยเหลือปัจจุบันให้มีผลถึง 31 ธันวาคม 2563 เช่น มาตรการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง การนำค่าจ้างพนักงานมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า รวมถึงการออกนโยบายหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมสำหรับผู้เข้าพักในโรงแรมต่างๆ ทั่วประเทศไทยในปีภาษี 2563-2564 ส่วนมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน และ กำลังใจ” ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อผู้ประกอบการกลับมาประกอบกิจการได้อีกครั้ง รวมถึงพิจารณาเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ โดยอาจเริ่มจาก Travel bubble ก่อน ภายใต้นโยบายการควบคุมทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาดซ้ำในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ