กยท. เดินหน้า ผลักดันสินค้ายางพาราสู่ภาคอุตสาหกรรม ดึง BOI ร่วมสนับสนุน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2020 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เดินหน้าให้การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อย SMEs วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร/เกษตรกรชาวสวนยาง ผลักดันสินค้ายางพาราสู่ภาคอุตสาหกรรม ดึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมเป็นพี่เลี้ยง เชื่อมั่นเทรนด์การใช้ยางธรรมชาติปรับตัวในทิศทางที่ดี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท. มุ่งหาแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในกิจการยางพารา เพื่อให้เกิดพัฒนาอุตสาหกรรมยาง จึงได้ร่วมประสานความร่วมมือกับ บีโอไอ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยาง สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบกิจการของ กยท. เนื่องจาก บีโอไอ เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และด้านการบริการสนับสนุนธุรกิจ ซึ่ง กยท. มองว่าสามารถช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร สถบันเกษตรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยางพารารายย่อยได้ โดยผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการเรื่องของการลดหย่อนภาษี มาตรการลดหย่อนภาษีนำเข้า กิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การยกเว้นอากรวัตถุดิบเพื่อการวิจัยพัฒนา และการพัฒนามาตรฐานการผลิตต่างๆ เช่น การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุง เพื่อทำมาตรฐาน FSC, GMP, GAP ฯลฯ ตลอดจนการขยายการผลิต ซึ่งสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอได้เช่นกัน ทั้งนี้ แต่ละหลักเกณฑ์ก็จะมีการให้ความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มองว่าการส่งเสริมยางพารา กำลังปรับให้มีการพัฒนาจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมาตรการให้การสนับสนุนใหม่ของบีโอไอนี้ เกษตรกรชาวสวนยาง กลุ่มเกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางหรือผู้ประกอบกิจการ SMEs สามารถขอรับการสนับสนุนได้เช่นกัน เพื่อใช้ในการงดเว้นภาษีนิติบุคคล งดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเพื่อการส่งออก ซึ่งมีหลายสหกรณ์หรือบริษัทขนาดเล็กที่ไม่เคยทราบถึงสิทธิ์นี้ นายณกรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมแปรรูปยางของไทย ว่า ขณะนี้มีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งถือเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปยางของประเทศไทย เนื่องจาก ถุงมือยางมีช่วงของการเติบโต (Growth) เพิ่มมากขึ้น จากช่วงก่อนมีการระบาดเชื้อโควิด อยู่ที่ 12-15% ต่อปี แต่ปัจจุบันคาดว่าจะขยับขึ้นไปถึงเท่าตัว (30% ต่อปี) และมีมูลค่าการส่งออกถุงมือยางประมาณ 2.7 หมื่นล้าน/ปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ภาครัฐกำลังหาแนวทางนำน้ำยางข้น ซึ่งมีปริมาณมากในประเทศ ผลักดันเข้าสู่การแปรรรูป ขยายอุตสาหกรรมถุงมือยาง และนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางมาใช้ให้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และเพื่อให้อุตสาหกรรมยางของประเทศมีความเข้มแข็งในการเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ