กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กรุงเทพมหานคร
นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติเห็นชอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคลองหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดราชบพิธให้สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมอบให้ กทม. ดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่า สำนักการระบายน้ำ มีแนวทางดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิมและพื้นที่โดยรอบในส่วนที่ กทม. ดูแล ประกอบด้วย งานปรับปรุงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองคูเมืองเดิม รวมถึงป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและบ่อดักน้ำเสีย ตลอดจนขุดลอกคลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชนัดดา และคลองวัดราชบพิตร โดยในการดำเนินการดังกล่าวได้ประสานกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชนในการพิจารณาแนวทาง ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชนัดดา และคลองหลอดวัดราชบพิธให้เกิดความสวยงาม เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กล่าวว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาชนในชุมชนย่านเก่า ด้วยการสืบค้น ฟื้นฟู และอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาในพื้นที่ รวมถึงการจัดกิจกรรมอนุรักษ์พื้นที่ กิจกรรมเสาวนาทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กิจกรรมเครือข่าย อาทิ ประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมย่านบางลำพู สมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร สภาวัฒนธรรมเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย ขณะเดียวกันได้ดำเนินการตามแนวทางระดับนโยบาย คือ วิถีพอเพียง (COMMON WAYS OF LIVING) : ภูมิใจในรากฐานไทย พอใจในความเป็นอยู่ ซึ่งได้กำหนดภารกิจ “ย่านเดินเพลินกรุงรัตนโกสินทร์” โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานของ กทม. จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาชนได้แสดงศักยภาพ ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรการท่องเที่ยวในพื้นที่ และร่วมกันถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่