กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบ คนวัยทำงาน และคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบ Live CIBA TALK ผ่านทางเพจ CIBA หรือ https://www.facebook.com/dpuciba/ ภายใต้หัวข้อ “การสร้างธุรกิจด้วยตนเอง หลังวิกฤต Covid-19” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม กรรมการบริหารสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) มธบ. และ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และนายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิชาการ มธบ.ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Digital Marketing และ Lean Startup ร่วมเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย อาจารย์ วริศรา แหลมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด CIBA มธบ.
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม กรรมการบริหาร DPU X กล่าวว่า ในการทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด จำเป็นต้องมี Skillset ขณะที่ยุคโควิด-19 การทำธุรกิจแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นและระยะยาว ผู้ทำธุรกิจใหม่จะให้รอดได้ ในระยะสั้นต้องมีกระแสเงินสด โดยรีบค้นหา Demand ของลูกค้าให้เจอและรีบคว้าโอกาสไว้ ทำให้เร็ว ขายให้ไว เพื่อให้ได้เงินสดเข้ามาหมุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจกลุ่มเดิมที่มีทรัพยากรอยู่ในมือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ และหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้เจอเช่นเดียวกัน อาทิ เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เปลี่ยนพื้นที่ร้านให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเก่าต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี เพราะการทำธุรกิจนั้นในระยะสั้นเป็นช่วงที่รายได้ยังไม่แน่นอนหรือเป็นช่วงของ Demand เทียม ส่วนในระยะยาว ควรศึกษาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า โดยอิงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ผสมผสานกับวิธีคิดแบบ Startup ลองผิด ลองถูก และปรับตัวให้รวดเร็ว หากตอบโจทย์ลูกค้าได้ มองทิศทางอนาคตออก จะมีโอกาสรอดมากกว่าคนอื่น
“คนที่ต้องการเริ่มธุรกิจหลังยุคโควิด-19 ต้องทำความเข้าใจใน 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.Space (พื้นที่การทำงาน) 2.การบริหารจัดการความเสี่ยง 3.Real motive(แรงจูงใจที่แท้จริง) 4.Sanitation (สุขอนามัย)5.Trust (ความวางใจ) หากวิเคราะห์ปัจจัยทั้งหมดได้ จะเห็นโอกาสในทิศทางของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ส่วนสิ่งที่เป็นความเสี่ยงมากที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ คือ เงินสด ควรมีการวางแผนก่อนใช้จ่าย และต้องรู้วิธีบริหารจัดการเสี่ยง รวมถึงการกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจลังเลในการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ เพราะกลัวความไม่แน่นอน แต่ความเป็นจริงนั้น หากทุกคนหยุดใช้จ่าย หยุดลงทุน ภาคเศรษฐกิจจะไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้”ดร.พณชิตกล่าว
นายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิชาการ DPU กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้หลายธุรกิจอยู่รอดในยุคโควิด-19 คือ การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การจำกัดต้นทุน และการพัฒนาบุคลากร หากเจ้าของธุรกิจปรับตัวทันก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ส่วนผู้ที่ปรับตัวไม่ทันจำเป็นต้องปิดตัวลง และที่ผ่านมามากกว่าครึ่งที่ไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ หลังวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจทุกอย่างจะเปลี่ยนเร็วมากขึ้น นักธุรกิจและเจ้าของกิจการ จะมีการวางแผนรัดกุมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การลดต้นทุนและจำกัดสิ่งที่ไม่จำเป็น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่วน Model ของธุรกิจหลังยุคโควิด-19 นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ ทุกคนต้องทดลองเองในหลายๆรูปแบบ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต ทั้งนี้ การทำ Hard sale แบบเดิมอาจใช้ไม่ได้ผล เพราะลูกค้าเริ่มพิจารณาไตร่ตรองและใช้เงินประหยัดขึ้น ดังนั้น ควรปรับกลยุทธ์ให้เป็น CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ การทำงานเพื่อสังคม เพราะเมื่อเกิดการให้ ผู้รับจะให้กลับมาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงผู้ที่กำลังทำธุรกิจ ต้องบริหารต้นทุนและทรัพยากรให้ดี ทำความเข้าใจลูกค้าและต้องมีทักษะในการเรียนรู้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ธุรกิจถึงจะไปรอด
Live CIBA TALK มีกำหนดจัดเป็นระยะเวลา 3 เดือน แบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก จะเป็นการสร้างมุมมอง ความคิด อัพสกิล รีสกิล หลังจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องมีการใช้ชีวิตแบบ New Normal รวมถึงการสร้างองค์ความรู้แก่คนที่สนใจอยากสร้างธุรกิจของตนเอง โดยหัวข้อในช่วงแรกจะเป็นการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง การทำการตลาด และการจัดการโลจิสติกส์ในช่วงหลังโควิด-19 ว่าควรทำอย่างไร ต่อด้วยเฟส 2 เริ่มฟื้นตัว หัวข้อการสนทนาก็จะเป็นการให้องค์ความรู้ แลกเปลี่ยนการฟื้นธุรกิจแต่ละประเภท การบริหารธุรกิจ และเฟส 3 จะเป็นการจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโต การเพิ่มยอดขายให้โตขึ้น
สำหรับผู้ที่มองหาโอกาสทางธุรกิจ หลังยุควิกฤตโควิด-19 สามารถติดตามและร่วมฟังเสวนา Live CIBA TALK ได้ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ เวลา 19.00-20.00 น.ผ่านทางเพจ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA) หรือ https://www.facebook.com/dpuciba/