กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--มูลนิธิปิดทองหลังพระ
107 โครงการปิดทองฯ ช่วยคนตกงานจากโควิด 19 เป็นพี่เลี้ยงชุมชนสร้างแหล่งน้ำสานต่อความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานรากผ่านแหล่งน้ำชุมชนสร้างงานสร้างอาชีพ คาดปชช.มีเงินเพิ่มจากผลผลิต 3,400 บาทต่อเดือน
นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด 19 ที่ทำคนตกงานต้องกลับบ้านไร้งานทำ โดยโครงการนี้เกิดจากคณะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ได้ร่วมกันหารือและวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ จึงเห็นว่าต้องเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เร่งด่วน เพราะล้วนแต่เป็นกำลังในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงได้เกิดโครงการและเริ่มในพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัดคือ ขอนแก่น อุดรและกาฬสินธุ์ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชนเมื่อโครงการสำเร็จจะส่งต่อรัฐบาลขับเคลื่อนต่อไป
ทั้งนี้โครงการได้กำหนดให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างอาชีพในชุมชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ประชาชนและเกษตรกรจะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้ มีด้วยกัน 107 โครงการ ใน 43 อำเภอ 3 จังหวัดแบ่งเป็นการจ้างงานในจังหวัดอุดรธานี 83 ราย ขอนแก่น 145 ราย และกาฬสินธุ์ 130 ราย ทั้งหมดจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชนที่มาร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำที่สถาบันปิดทองฯสนับสนุนปัจจัยการซ่อมเสริมสร้างแหล่งน้ำ โดยมีภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมลงแรง ทั้งนี้ใน 107 โครงการจะมีครัวเรือนรับประโยชน์จากแหล่งน้ำ 5,320 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 30,990 ไร่ มีปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) งบประมาณลงทุน 48.8 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในฤดูการผลิตและการทำพืชหลังนาได้กว่า 217 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้เพิ่ม 7,000 บาทต่อไร่ หรือ3,400 บาทต่อเดือน คิดเป็นรายได้ต่อปีเทียบกับงบลงทุนเท่ากับ 4.45 เท่า
“เป็นการทำงานที่เรียกว่า 4 ประสาน 3 ประโยชน์ คือประชาชน ราชการ เอกชนและมูลนิธิปิดทองฯ ร่วมกันสร้าง 3 ประโยชน์ คือ บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ สร้างอาชีพ และสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยประชาชนมีส่วนร่วม เช่นที่โครงการฝายทดน้ำห้วยปอ ม. 12 บ้านบัวสามัคคี ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ที่ฝายท้องถิ่นดูแลแต่ไม่มีงบบำรุงทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำใช้ในหน้าแล้งได้ทั้งที่มีน้ำจำนวนมากจากเทือกเขาภูพานลงมา หลังจากแล้วเสร็จสามารถทดน้ำในฤดูฝนนี้ได้เพิ่มขึ้น 13.8 ล้านลบ.ม. คาดว่าประชาชนในพื้นที่จะมีรายได้ประมาณ 86 ล้านบาท จากพื้นที่รับประโยชน์ 9,820 ไร่ “ นายประสิทธิ์กล่าว
นางธนิกา โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้านบัวสามัคคี กล่าวว่า โควิด 19 ที่ระบาดชาวบ้านก็คิดว่าลูกหลานกลับมา จะไม่มีเงินส่งมาก และตกงานกลับมา จะมีอาชีพอะไรให้ทำ เมื่อทราบว่าจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจ้างลูกหลานคนในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงทำงานด้วยก็ดีใจ แต่ยังไม่เชื่อว่าจะสำเร็จ กระทั่งวันนี้ทุกคนดีใจมากที่จะมีแหล่งน้ำมาช่วยทำการเกษตร เนื่องจากฝายทดน้ำห้วยปอสร้างมา 30 ปี หลังจากที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้ตามกฎหมาย ทางท้องถิ่นก็มีการซ่อมบำรุงเป็นระยะแต่เป็นการบำรุงแบบไม่เต็มรูปแบบทำให้ฝายขาดความแข็งแรงและไม่สามารถทดน้ำได้เกษตรกรเดือดร้อนมากหน้าแล้งไม่มีน้ำ ซึ่งฝายที่ชาวบ้านช่วยกันทำวันนี้มาจากการลงแรงของชาวบ้านที่ตั้งใจทำเพื่อความมั่นคงของทุกครัวเรือนในพื้นที่ที่จะมีน้ำใช้ จากนี้ไปจะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการการน้ำร่วมกันในฤดูแล้ง เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้งที่จะมีภาคเอกชนมาร่วมเชื่อมโยงตลาด เพราะผลชสำเร็จจากฝายทำให้ทุกคนทราบแล้วว่าสามัคคีร่วมกันทำให้ชุมชนก้าวหน้า และงานสำเร็จ