กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ป้องกันปัญหาสมาชิกสหกรณ์หนี้สินล้นพ้นตัว และลดความเสี่ยงธุรกรรมทางการเงินในการปล่อยกู้ระหว่างสหกรณ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 9, 2020 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอครม.เห็นชอบ 2 ร่างกฎกระทรวง กำกับสหกรณ์ปล่อยสินเชื่อเกินตัวและการกระจุกตัวของเงินกู้-เงินฝาก พร้อมป้องปรามการกู้ไขว้ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กำชับห้ามนำประกันชีวิตและฌาปนกิจมาเป็นหลักประกัน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์(กสส.) เปิดเผยว่า กรมได้เสนอร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติมจำนวน 2 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบ โดยมีร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ…. และร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… ออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเกณฑ์กำกับทั้ง 2 ร่าง ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียแล้ว เหตุสำคัญที่ต้องมีการออกกฎกระทรวงก็เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีการให้สินเชื่อกับสมาชิกและการกู้ยืมเงินและฝากเงินระหว่างสหกรณ์ เนื่องจากพบว่ามีการให้กู้ยืมและรับฝากเงินไขว้กันไปมา มูลค่าสูงกว่า 721,427 ล้านบาท “เราตรวจสอบพบว่า บางสหกรณ์ได้มีการนำเงินไปฝากหรือให้กู้กระจุกตัวในบางสหกรณ์ที่มีชื่อเสียงและให้ผลตอบแทนจูงใจ ส่งผลต่อความเสี่ยงของสหกรณ์นั้น ๆ ขณะเดียวกันก็พบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งมีการปล่อยเงินกู้ให้สมาชิก และกำหนดงวดชำระหนี้สูงถึง 400 - 600 งวด และบางแห่งให้วงเงินกู้สูงเกินความสามารถชำระหนี้ของสมาชิก ส่งผลต่อการหักชำระหนี้ของสมาชิกบางรายหักเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ของเงินเดือน ทำให้ไม่เหลือเงินใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ โดยในร่างใหม่กำหนดให้เหลือร้อยละ 30 ของเงินเดือน ทั้งนี้ เกณฑ์กำกับที่กรมได้มีการยกร่างนั้น มีทั้งหมด 13 ฉบับ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างเสร็จแล้ว 7 ฉบับ และอีก 5 ฉบับ กรมได้ดำเนินการเสนอร่างให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว ยังคงเหลือเรื่องเกณฑ์การลงทุนที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในเรื่องสัดส่วนการลงทุนของสหกรณ์ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ” นายพิเชษฐ์กล่าว สำหรับรายละเอียดในร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน พ.ศ… มีด้วยกัน 5 หมวดและบทเฉพาะกาล สาระสำคัญคือ สหกรณ์ให้เงินกู้กับสมาชิกได้ 3 ประเภท คือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน งวดชำระหนี้ไม่เกิน 12 งวด เงินกู้สามัญ เพื่อใช้จ่ายที่จำเป็น งวดชำระหนี้ ไม่เกิน 150 งวด เงินกู้พิเศษ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือความมั่นคงและคุณภาพชีวิต งวดชำระหนี้ไม่เกิน 360 งวด ทั้งนี้ การกำหนดงวดการชำระหนี้แล้วเสร็จ ผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 75 ปี เว้นแต่การกู้ยืมเงินนั้นเมื่อรวมทุกสัญญาแล้ว มีจำนวนไม่เกินค่าหุ้น และเงินฝากที่ผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์ กรณีที่มีการทำสัญญาเงินกู้ใหม่สำหรับเงินกู้ประเภทเดียวกันหรือมีการรวมสัญญาจะต้องชำระหนี้ตามสัญญาเดิมมาแล้วดังนี้ คือกรณีเงินกู้สามัญ ต้องชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด เงินกู้พิเศษไม่น้อยกว่า 12 งวด ในเรื่องหลักประกันเงินกู้สามัญสามารถใช้สมาชิกสหกรณ์หรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกันได้ แต่ห้ามนำเงินประกันชีวิตและเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินอื่นที่มีลักษณะเดียวกันมาพิจารณาเป็นหลักประกัน ส่วนเงินกู้พิเศษให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันโดยใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินทรัพย์สินที่ได้รับอนุญาตหรือราคาประเมินของรัฐ โดยเกณฑ์ การพิจารณาให้เงินกู้สมาชิก ผู้กู้ต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ดูพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ และหลักประกันตามเกณฑ์การให้เงินกู้สามัญและเงินกู้พิเศษ ทั้งนี้ หากสหกรณ์ให้กู้ 1 ล้านบาทขึ้นไป ต้องใช้ข้อมูลเครดิตบูโรจากบริษัทข้อมูลแห่งชาติ จำกัด มาประกอบการพิจารณาด้วย และหากผู้กู้มีรายได้รายเดือน จะต้องมีเงินคงเหลือสุทธิ แต่ละเดือนหลังจากหักชำระหนี้แล้ว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา ส่วนกรณีการให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่น จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของสหกรณ์ผู้กู้ในด้านความมั่นคงทางการเงิน มีความสามารถในการชำระหนี้ มีการบริหารจัดการที่ดี และปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 60 งวด หลักประกันเงินกู้ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาตหรือราคาประเมินของราชการในขณะทำสัญญากู้ นอกจากนั้น ในกฎกระทรวงยังกำหนดให้ต้องมีการสอบทานธุรกรรมด้านการให้กู้อีกด้วย โดย 1. สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องสอบทานกระบวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นกระบวนการโดยผู้สอบทานที่เป็นอิสระ 2. อัตราการสอบทาน ลูกหนี้ที่เป็นสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ กำหนดให้สอบทานอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 1 ปีบัญชี ส่วนลูกหนี้ที่เป็นสมาชิก ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนยอดคงค้างของลูกหนี้ แต่ไม่เกิน 200 ราย ทั้งนี้ การสอบทานดังกล่าวต้องครอบคลุมลูกหนี้รายใหญ่ 100 รายแรกและครอบคลุมเงินกู้ทุกประเภท และให้ส่งแผนสอบทานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมาการดำเนินการให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันสิ้นบัญชี ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ นิติกรรมใดที่มีก่อนกฎกระทรวงนี้ให้ดำเนินการต่อไปจนสิ้นอายุนิติกรรม เว้นแต่การกู้เพื่อรวมสัญญาให้เป็นตามกฎกระทรวงใหม่ กรณีสหกรณ์ขนาดใหญ่การสอบทานให้ดำเนินการ ตามกฎกระทรวงใหม่ภายใน 2 ปี สำหรับร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ... นั้น กำหนดให้ ในฐานะเจ้าหนี้ สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้เงินแก่สหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้นรวมกันทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงิน หรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก ส่วนในฐานะลูกหนี้ จะก่อหนี้และภาระผูกพัน หรือกู้เงินหรือรับฝากเงินจากสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ยกเว้นสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของทุนเรือนหุ้นร่วมกับทุนสำรองของสหกรณ์ ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ทั้งนี้ การก่อหนี้และภาระผูกพัน การให้กู้ และการฝากเงินของสหกรณืหรือชุมนุมสหกรณ์ที่ทำนิติกรรมก่อนกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ดำเนินการไปตามสัญญาเดิมจนสิ้นอายุสัญญา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ