กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการปรับปรุงร่างนโยบายขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงในส่วนของกรอบแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ อีกทั้งได้มีการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) โดยที่ประชุมมีมติให้อนุกรรมการฯ นำร่างนโยบายและร่างแผนปฏิบัติไปศึกษาในรายละเอียด และหากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ให้อนุกรรมการฯ แจ้งฝ่ายเลขาเพื่อปรับปรุงต่อไป
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 6 ครั้ง เพื่อพิจารณาร่างนโยบายการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในปัจจุบันมุ่งเน้นการดำเนินการใน 6 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร และรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่มีกลไกในการทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงติดตามการทำงานและผลักดันให้เกิดพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ที่ประชุมจึงได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน คณะทำงานขับเคลื่อนวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ และคณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายฯ ดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน ได้นำเสนอโครงการ "1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่" เพื่อเสนอขอรับงบประมาณในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด 19 มีวัตุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) เห็นชอบโครงการดังกล่าว ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาอนุมัติต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศที่สามารถใช้สำหรับวางแผนการขับเคลื่อน จะทำให้ทราบจำนวนพื้นที่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกร ซึ่งเป็นระบบประมวลผลข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร ประกอบด้วย ข้อมูลเกษตรกรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ จาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563 นี้