กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
จากเหตุการณ์พายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีถึงผลกระทบดังกล่าว ด้วยเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม ด้วยความห่วงใยและเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ จึงได้จัดส่งถุงยังชีพ บรรจุสิ่งของจำเป็นนำส่งมอบในพื้นที่เป็นการเร่งด่วนในช่วงเกิดเหตุการณ์ แต่ด้วยเหตุการณ์พายุครั้งนั้นได้ทวีความรุนแรง เกิดน้ำท่วมสูงเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีประชาชน โรงพยาบาล โรงเรียน บ้านเรือน วัด รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ธนาคารฯ ได้คำนึงถึงการช่วยเหลือในระยะฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีความมั่นคงด้านปากท้องและความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน โดยจัดโครงการ “ร้อยใจ รวมไทย สู่ใจอีสาน” ขึ้น ด้วยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินการในกิจกรรมสำคัญ ๆ ดังนี้
1) การสนับสนุนชุดหนังสือและอุปกรณ์การเรียนให้แก่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบใน จ.อุบลราชธานี และจ.ร้อยเอ็ด จำนวน 312 โรงเรียน ได้แก่ หนังสือความรู้สำหรับห้องสมุด อุปกรณ์การเรียน และเครื่องเขียน โดยส่งมอบผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี
2) สนับสนุนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียหายเพื่อการดำรงชีพ โดยธนาคารฯ ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทยมอบหม้อหุงข้าวไฟฟ้า จำนวน 800 ใบ ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน
3) การฟื้นฟูอาชีพโดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 1,760 กระสอบ ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 370 ราย เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สำหรับปลูกข้าวนาปรัง เพื่อบริโภค และชดเชยรายได้ครัวเรือน พร้อมจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ขึ้นในแต่ละหมู่บ้านเพื่อต่อยอดให้เกษตรกรในชุมชนมีเมล็ดพันธุ์สำรองไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกและส่งคืนเมล็ดพันธุ์บางส่วนเข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์ไปแล้วเมื่อเดือน เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
4) การช่วยเหลือซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือน เพราะบ้านนับเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือก่อนเป็นลำดับแรก ได้แก่ ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งสิ้น 144 หลัง โดยพิจารณาดำเนินการตามระดับความเสียหาย มีทั้งรูปแบบซ่อมแซม ซ่อมสร้าง จำนวน 139 หลัง และสร้างใหม่ทั้งหลัง จำนวน 5 หลัง ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายได้ทยอยดำเนินการ พร้อมส่งมอบในจังหวัดยโสธรแล้ว จำนวน 47 หลัง สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ส่งมอบแล้ว จำนวน 74 หลัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย ธนาคารฯ และภาคีเครือข่ายได้ลงพื้นที่บ้านช่างหม้อ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี รับฟังความคิดเห็น และส่งมอบบ้านในโครงการ “ร้อยใจ รวมไทย สู่ใจอีสาน” ให้แก่ นายไพร มลิวัลย์ นับเป็นหลังที่ 75 คงเหลือบ้านที่เตรียมจะส่งมอบทั้งในจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานีอีก จำนวน 22 หลัง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้
นางสาวอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์มีนโยบายในด้านการบรรเทาทุกข์บำรุงสุข ด้วยเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม เพื่อส่งมอบคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ช่วยผู้ประสบภัยกับไทยพาณิชย์” จากเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์พายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารฯ ตระหนักดีถึงความเดือดร้อนดังกล่าว โดยให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และมองว่าการให้ความช่วยเหลือในระยะฟื้นฟูเป็นอีกแนวทางที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงได้เป็นแกนนำในการจัดโครงการ “ร้อยใจ รวมไทย สู่ใจอีสาน” ขึ้น โดยการร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายแก่พี่น้องประชาชน ให้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม โดยมีการติดตามผลของโครงการอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ พวกเราพร้อมจะเปลี่ยนคราบน้ำตาให้เป็นรอยยิ้มเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป”
โครงการ “ร้อยใจ รวมไทย สู่ใจอีสาน” นับเป็นการผนึกกำลังกันของภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง ในการนำศักยภาพ พร้อมเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของแต่ละองค์กร มาร่วมบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พี่น้องประชาชน