วศ.อว.ให้ข้อมูลอันตรายของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอากาศ

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2020 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ“อันตรายของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอากาศ” เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา การสัมผัสกับเชื้อรา อาจเป็นส่วนประกอบของเชื้อรา เช่น สปอร์ และสารชีววัตถุที่เชื้อราสร้าง เช่น สารพิษ และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย โดยการสูดดม การกลืนกินและสัมผัสผ่านทางผิวหนัง จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ การติดเชื้อ (เช่น การติดเชื้อในปอด) จะพบในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ การเกิดอาการแพ้หรือผลของการแพ้ในคนที่มีความไวต่อการแพ้เชื้อรา ปฏิกิริยาที่ระคายเคืองหรือเป็นพิษซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท อาการที่พบ ได้แก่ อาการไอ การหายใจดัง และหอบหืด ผิวหนังและเยื่อเมือกจะเกิดอาการระคายเคืองหรือผื่นแดง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การตอบสนองต่อเชื้อราของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ อายุ สภาพร่างกาย สถานะสุขภาพ ภูมิคุ้มกัน สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ และปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราในอาคาร คือการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความชื้นสะสม จะช่วยให้ปลอดภัยจากอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราได้ ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กลุ่มคุณภาพทางจุลชีววิทยาในอาหาร กองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทรศัพท์ 02-201-7198 หรือเบอร์ 02-2017000 ในวันและเวลาราชการ หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร จำเป็นต่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวันได้ทางเพจ Doctor D. ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ควบคุมดูแลข้อมูลโดยนักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ