กอนช.ระดมทุกหน่วยสกัดอุปสรรคน้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ หวังเร่งดึงน้ำเข้าช่วงฝนมากระยะ 1-2 เดือนนี้

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2020 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตรียมถกหน่วยเกี่ยวข้องเร่งแผนเก็บน้ำใต้ดิน-น้ำผิวดิน ประเดิมทำแผนจูงน้ำลงเขื่อนใหญ่ 36 แห่ง หลังประเมินช่วงฝนมากจะถึงแค่กลางกันยายนนี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติครั้งที่ 1/2563 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามที่ได้รับการจัดสรรงบกลางจำนวน 2 โครงการ คือ การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และการเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ ซึ่งในภาพรวมพบว่ายังไม่แล้วเสร็จตามแผน มีความก้าวหน้าประมาณ 70-80 % ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มีความห่วงใยว่าแผนงานโครงการต่างๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย ทั้งการช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ที่ประชุมจึงได้เร่งรัดทุกหน่วยรายงานปัญหาอุปสรรค รวมถึงแผนการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนเพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ยังได้หารือแนวทางการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ที่รับผิดชอบโดยกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้มฝนจะเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ไปจนถึงกลางเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้องเร่งเก็บกักน้ำเข้าอ่างฯ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุดให้ได้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าปริมาณน้ำยังไหลเข้าอ่างฯ ไม่มากนัก โดยมีเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 33 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ดังนั้น เบื้องต้นที่ประชุมจะมีการมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนขนาดใหญ่ทุกแห่ง สำรวจตรวจสอบอุปสรรคที่ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าอ่างฯ รวมถึงเสนอแนวทางการดึงน้ำ จูงน้ำ และเร่งหารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ จิสด้า กองทัพอากาศ ที่มีการนำเทคโนโลยีสำรวจทางน้ำเข้าต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนเร่งด่วนในการเก็บกักน้ำฝนที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นประมาณ 1 – 2 เดือนนี้ ให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับแผนการเก็บกักน้ำใต้ดินทั้งการเติมน้ำใต้ดิน โดยระบบบ่อบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดินด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังติดตามความก้าวหน้า 8 มาตรการ เตรียมความพร้อมรับมือช่วงฤดูฝนปี 2563 อาทิ การกำจัดผักตบชวาเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ พบว่า จากการสำรวจเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมมีปริมาณผักตบชวาประมาณ 3 แสนตัน หลังจาก 5 หน่วยงานหลัก เร่งรัดดำเนินการสามารถกำจัดผักตบชวาได้มากกว่า 5 แสนตัน ยังคงเหลืออีก 1 แสนตัน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ การจัดทำบัญชีเครื่องจักรเครื่องมือของหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมใช้งานเป็นรายจังหวัด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ การเตรียมพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำหลาก อาทิ พื้นที่ทุ่งบางระกำที่มีการเตรียมพื้นที่เก็บกักน้ำทั้งผิวดินและน้ำใต้ดิน รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาบึงสีไฟ จ.พิจิตร ให้สามารถรองรับน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้รวม 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จตามแผน ยังเหลืออีกประมาณ 14% โดยเฉพาะการขนย้ายวัสดุและดินที่ขุดลอก ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรมชลประทานจะสามารถลำเลียงน้ำเข้าไปเก็บกักในบึงสีไฟได้ตั้งแต่ 15 สิงหาคมนี้ โดยมีเป้าหมายการเก็บกักน้ำไม่น้อยกว่า 80% ของความจุ ซึ่งบึงสีไฟจะเป็นหนึ่งตัวอย่างการบำรุงรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติให้แก่พื้นที่รองรับน้ำหลากพื้นที่อื่น ๆ ด้วย “กอนช.จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์ สภาพอากาศ แนวโน้มฝน ปริมาณน้ำในอ่างฯ ในช่วงฤดูฝนนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทบทวนมาตรการป้องกัน ความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ โดยปริมาณฝนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่ามีปริมาณฝนค่อนข้างมาก แต่ด้วยความชื้นในดินจากสภาวะแล้งต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเข้าอ่างฯ เก็บน้ำยังมีปริมาณน้อย แต่จากการคาดการณ์ของ 2 หน่วยงาน คือ กรมอุตุนิยมวิทยาและสสน. สอดคล้องตรงกันว่า ช่วงที่จะเก็บกักน้ำฝนได้เพิ่มขึ้นแต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ คือในช่วงเดือนกรกฎาคม - กลางเดือนกันยายนเท่านั้น จึงต้องเร่งทุกวิธีการเพื่อเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งประเด็นที่มีข้อกังวลที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ ยังมีพื้นที่ว่างในการเก็บกักน้ำอีกมาก แต่ก็ต้องไม่ประมาทที่จะต้องติดตามแนวโน้มการก่อตัวขอพายุที่ยังคงคาดการณ์ว่าในปีนี้น่าจะเกิดประมาณ 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนนี้ด้วย ที่อาจจะส่งผลกระทบในบางพื้นที่ได้เช่นกัน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ