กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ถือเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวอีสาน และลุ่มแม่น้ำโขง ตามหลักฐานทางโบราณคดีสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี โดยถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีวอก และผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ด้วยความเชื่อที่ว่าหากผู้ใดได้มานมัสการพระธาตุพนมครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น "ลูกพระธาตุ" ชีวิตจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ด้วยรากฐานที่มั่นคงทางความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวนครพนม ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา “การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบที่นำความงามของศาสนาและวัฒนธรรมมาส่งเสริมจิตวิญญาณของนักท่องเที่ยว โดย ดร.ปรีดารี ศิริรัตน์ ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรียา กิจเจริญ ภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ได้ค้นพบว่าการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณสามารถทำให้การท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนมีความยั่งยืนได้ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน จากผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง "การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดนครพนม" ซึ่งจะร่วมเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation) เพื่อชิงรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ปีการศึกษา 2563 ในกลุ่มมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ระดับปริญญาเอก จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรียา กิจเจริญ กล่าวแนะนำผลงานของผู้วิจัยในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักว่า ปัจจุบันประเทศไทยเรามีการท่องเที่ยวหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่สร้างคุณูปการให้กับพื้นที่เป็นอย่างมาก ในการสร้างรูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ซึ่งถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างศาสนาก็สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ก็สามารถชื่นชมและสัมผัสกับจิตวิญญาณในเชิงพุทธศาสนาได้ โดยจุดแข็งอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนในชุมชนซึ่งมีความรักในท้องถิ่น และพร้อมให้การสนับสนุนโครงการวิจัยนำร่องดังกล่าว จนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม ให้คนในชุมชนมีรายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยดังกล่าว สามารถต่อยอดไปยังจังหวัดอื่นๆ สู่การสร้างนโยบายในระดับประเทศได้
ด้าน ดร.ปรีดารี ศิริรัตน์ ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า งานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา และการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนให้ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวของตนเอง และใช้การจัดกระบวนการให้ความรู้โดยใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนา สอดแทรกระหว่างการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่เน้นการให้ความรู้และการพัฒนาตัวเอง ทำให้เกิดแรงจูงใจและแรงศรัทธาที่ส่งผลให้คนและสิ่งแวดล้อมดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน จากการศึกษานำร่องในพื้นที่ 7 ชุมชนของจังหวัดนครพนม ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม อำเภอนาแก อำเภอนาหว้า อำเภอปลาปาก และอำเภอเรณูนคร
“ผลการวิจัยได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาให้กับนักเรียนในระดับการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างสมดุลให้กับสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากกิจกรรมทางด้านศาสนาแล้ว การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณในระดับสากล อาจเป็นการอนุรักษ์พืชพรรณ หรือสัตว์ป่าก็ได้ หากยังคงวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นให้คนเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเอง แล้วก็อยากจะดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น” ดร.ปรีดารี ศิริรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.ปรีดารี ศิริรัตน์ จะร่วมเสนอผลงานรางวัลวิทยานิพนธ์ ในวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 15.00 – 16.30 น. ผ่าน Zoom ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังแบบออนไลน์ได้ที่ เพจของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.facebook.com/grad.mahidol สอบถาม email : veerachat.pan@mahidol.ac.th