กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ถึงแม้ว่าจะคลายตัวลงแล้ว แต่ว่ายังคงส่งผลกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการศึกษาจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของรัฐบาลและเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เรามีการปรับการเรียนการสอนเป็นแบบนิวนอร์มอล โดยลดเวลาเรียนในห้องเรียนและเพิ่มเวลาเรียนนอกห้องเรียนให้มากขึ้น โดยส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ จากประสบการณ์จริง เช่น การค้นคว้า ทำงานกลุ่ม โปรเจกต์ หรือการนำเสนอผลงานธีสิสออนไลน์ เป็นต้น เพื่อลดความแออัดในการใช้ห้องเรียน ห้องเรียนก็จัดให้มี Social distancing ซึ่งจากเดิม ห้องเรียน 50 คน จะเหลือเพียง 25 คน ทั้งยังมีระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อเช็คอินติดตามสถานะการเข้า-ออก ห้องเรียน อาคารเรียน ตามพื้นที่ต่างๆ
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยมีการจัดห้องเรียนแบบ broadcast ที่สามารถเรียนแบบออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ หรือบางวิชานักศึกษาก็สามารถดูการสอนย้อนหลังได้ รวมถึงนักศึกษาสามารถดูคลิปวิดีโอที่อาจารย์สรุปเนื้อหาการสอนเพื่อให้นักศึกษาสามารถทบทวนเนื้อหาบทเรียนได้อย่างแม่นยำ
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าการเรียนออนไลน์จะช่วยลดการแพร่ระบาด covid-19 แต่ว่านักศึกษายังคงต้องการการเรียนแบบ Social Life คือต้องการสังคม ได้เจอเพื่อน พูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ถ้าเป็นการเรียนออนไลน์ที่อยู่กับบ้านอาจจะไม่ตอบโจทย์ นักศึกษาปริญญาตรีจะมีเวลาว่าง ซึ่งก็อยากใช้เวลาว่างจากตรงนั้นได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ มาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็จึงต้องมีสภาพแวดล้อม มีสถานที่ที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เป็นพื้นที่ Co-working Space ให้กับนักศึกษาได้ทำกิจกรรม เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำงาน คุยงาน นั่งเล่น จิบกาแฟ ออกกำลังกาย ในอนาคตเราอาจจะทำห้องสำหรับดูหนังให้กับนักศึกษา ด้วยสภาพแวดล้อมที่สบายผ่อนคลายเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา
“จะเห็นได้ว่าด้วยภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น คนที่ไม่มีทักษะอาชีพจะอยู่ลำบากและเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จึงมีหลักสูตร GenEd ที่เน้น 4 Module สำคัญ คือ โมดูลแรกเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์เพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงกระบวนการต่างๆที่เป็นลักษณะตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ โมดูลที่สองเรื่องนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ Lifestyle ยุคใหม่ นักศึกษาจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ส่วนโมดูลที่สามเป็นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ นักศึกษาจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีอย่างง่ายในการนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ได้ ส่วนโมดูลสุดท้าย เป็นทักษะการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ในยุคดิจิทัล นักศึกษาจะมีความชาญฉลาดในการเลือกใช้เทคโนโลยี และสามารถนำมาพัฒนากระบวนการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
หลักสูตรเหล่านี้จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถปรับตัวได้แม้ในภาวะวิกฤต ให้นักศึกษารู้จักปรับตัว เรียนรู้การใช้ชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่รู้ทฤษฎีในห้องเหมือนเดิม แต่จะต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เรียนวิชาที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นักศึกษาหนึ่งคนจะต้องมีความรู้และทักษะรอบด้าน ที่สามารถเอาตัวรอดได้ บางคนอาจจะนำความรู้ไปต่อยอดในธุรกิจของตนเอง หรือบางคนอาจนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาทักษะวิชาชีพของตนเองได้”
นอกจากเน้นทักษะที่สำคัญ สกิลด้านภาษาก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็นที่เราต้องการให้นักศึกษามีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษในระดับที่ดี ดังนั้น DPU จึงเป็นศูนย์ทดสอบและศูนย์ฝึกอบรมของ Pearson ซึ่งเป็นหลักสูตรการวัดผลทางด้านภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยนักศึกษาทุกคนจะได้เรียนและฝึกฝนการใช้ทักษะภาษาอังกฤษ ผ่านแอปพลิเคชันที่เป็นเจ้าของภาษา ไม่ว่าจะเป็นการพูด อ่าน สนทนากับเจ้าของภาษา สามารถเรียนได้ anywhere anytime มีบททดสอบ หากนักศึกษาผ่านบททดสอบครบถ้วนตามหลักสูตรแล้วทาง DPU และ Pearson จะออกใบ Certificate เพื่อรับรองว่านักศึกษาผ่านการฝึกอบรมทักษะภาษาอังกฤษ โดยเราจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป