กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์เผยความคืบหน้า 2 โครงการสำคัญ เร่งขับเคลื่อนปีนี้ ทั้งโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร และโครงการซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ ทั้งสองโครงการนี้เชื่อมโยงกันลงตัว หวังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย พร้อมป้อนเข้าสู่ซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แถลงข่าวความคืบหน้า 2 โครงการสำคัญ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการและเร่งขับเคลื่อนในปีนี้ ได้แก่ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร และโครงการซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ พร้อมเผยว่าทั้งสองโครงการนี้มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป้าหมายของโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน เป็นการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้กลับมาสานต่ออาชีพการเกษตร โดยเน้นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและการตลาด การวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นทำน้อยแต่ได้มาก ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ได้ผลกำไรที่คุ้มค่า และได้มีโอกาสอยู่ดูแลครอบครัวใกล้ชิด และมีสหกรณ์ในพื้นที่เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำอาชีพ โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ เข้ามาสานต่อและพัฒนางานสหกรณ์ในอนาคต ส่วนโครงการซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ มีเป้าหมายในการพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรของสหกรณ์ที่มีคุณภาพจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น ข้าวสาร นม ไข่ไก่ ผักผลไม้ อาหารแปรรูป และเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้มากขึ้น และผลักดันให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตามแนวคิด “สด สะอาด ปลอดภัย” Fresh From Farm by Co-op สดจากฟาร์มถึงมือคุณ
สำหรับคืบหน้าของโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร หลังจากได้เปิดรับสมัครโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เมื่อวันที่ 1- 31 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มีผู้สมัคร เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ 7,559 ราย และมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการแล้ว 690 สหกรณ์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัท ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างหน่วยงาน ข้าราชการ พนักงานรัฐ นักศึกษาและผู้ว่างงาน เป็นคนในช่วงวัย 30 – 39 ปีมากที่สุดและส่วนใหญ่จบระดับปริญญาตรี ซึ่งในระหว่างที่เกิดสถานการณ์โควิด – 19 ระบาด ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ได้ติดต่อผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อสอบถามถึงความพร้อมในการกลับไปทำการเกษตร และได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านและพื้นที่ ทำเกษตรของผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 6,079 ราย และจากการสำรวจความต้องการของผู้สมัคร ส่วนใหญ่ ต้องการให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมในการพัฒนาทักษะในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ เกษตรผสมผสานเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ การปรับปรุงการผลิตการเกษตร/ทักษะการเกษตร การบริหารจัดการธุรกิจการเกษตร การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการผลิตและช่องทางการค้าในระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดได้มีการวางแผนในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการตามความสนใจของแต่ละราย และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในการแนะนำการประกอบอาชีพการทำเกษตรในด้านต่าง ๆ ด้วย
ส่วนโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ มีความสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตที่ทำหน้าที่ในการรวบรวม แปรรูป บริหารจัดการสินค้าของสมาชิกเกษตรกร และกระจายสินค้าตรงถึงผู้บริโภค ซึ่งภายหลังจากได้เปิดตัวนำร่องซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์แห่งแรกที่ร้านสหกรณ์ พระนคร จำกัด ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ทำให้มีกระแสตอบรับจากสหกรณ์ต่าง ๆ สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ จำนวน 94 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 42 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 19 แห่ง ภาคกลาง 14 จังหวัด จำนวน 31 แห่ง ภาคใต้ 10 จังหวัด จำนวน 20 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด จำนวน 24 แห่ง
ทั้งนี้ สินค้าหลักที่จะเน้นให้สหกรณ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ นำมาจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ได้แก่ ข้าวสาร หลากหลายชนิด เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ นอกจากนี้ ก็ยังมีสินค้าเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน ได้แก่ นมพร้อมดื่ม ไข่ไก่ เนื้อโคขุน สินค้าประมงแปรรูป ผลิตภัณฑ์กาแฟ ผักอินทรีย์ ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน และผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์ระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อนำไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ไม่น้อยกว่า 73 แห่ง มูลค่าธุรกิจเฉลี่ยประมาณ 8 ล้านบาทต่อเดือน โดยสินค้าที่มีมูลค่าธุรกิจสูงสุด คือ ข้าว รองมา ได้แก่ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และกาแฟ
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแผนพัฒนาความรู้ในการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในการปรับตัวรองรับการเข้าสู่ยุค New Normal เพื่อให้ร้านค้าสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาความรู้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์และสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal จัดการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 13 - 14 กรกฎาคม 2563 ครั้งที่ 2 วันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 3 วันที่ 21 สิงหาคม 2563 จากนั้นจะมีการคัดเลือกซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำนวน 10 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ต่อไป