กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีการพัฒนาศักยภาพในการผลิตข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ และสามารถส่งออกจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่หลายประเทศสามารถปลูกข้าวได้ปริมาณมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกมาหลายปี แต่ในช่วงปี 2559 - 2562 ประเทศไทยปริมาณการส่งออกข้าวไทยที่ลดลง ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันในเรื่องของราคากับประเทศส่งออกคู่แข่งต่างๆ อาทิ ประเทศอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และพม่า เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมุ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีความแตกต่างทั้งในเรื่องของความโดดเด่นของพันธุ์ข้าว ความหอม รสชาติ ผลผลิต รวมไปถึงเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรได้
“การประกวดข้าวฯ ในครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้ตื่นตัวระดมสมองช่วยกันวิเคราะห์ถึงความต้องการของตลาดข้าวโลก จึงทำให้มั่นใจว่า ปีหน้าไทยจะสามารถเรียกคืนแชมป์ข้าวกลับมาได้อย่างแน่นอน และขอให้จัดการประกวดนี้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ดียิ่งขึ้นทั้งอายุการเก็บเกี่ยวและผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดครั้งนี้ จะต้องนำไปวิเคราะห์และพัฒนาต่อไป ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาชาวนาได้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำประมาณ 350 กก.ต่อไร่ เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เต็มเมล็ด แต่หากได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดี จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 500-700 กก.ต่อไร่ กรมการข้าวจึงต้องเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนทั้งเครื่องมือและความรู้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ จึงเน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สถาบันการศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยให้มีคุณภาพเพื่อช่วยชาวนาอย่างเร่งด่วน” นายประภัตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ชาวนาไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำนาใหม่ ให้ใช้น้ำน้อย โดยการทำนาแบบเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อาทิ ใช้ระบบหยดน้ำ นอกจากนี้ ปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพการประกวดข้าวโลก จึงได้เน้นย้ำกับกรมการข้าวให้ไปศึกษาวิเคราะห์ข้าวจากผู้ชนะในปีที่แล้วว่าเป็นอย่างไร เชื่อว่าคนไทยเราเก่ง และจะสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ดี ซึ่งจะต้องมีการประกวดในประเทศไทยกันเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อคัดพันธุ์ที่ดีที่สุดต่อไป
นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้ร่วมหารือกับกรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาข้าวไทย แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทย ประกอบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) มีนโยบายในการพัฒนาข้าวไทยให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการเชื่อมโยงหน่วยงานหลายภาคส่วน ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไปจนถึงการขยายตลาดการค้าข้าวในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวไทย พร้อมวางแนวทางการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในการแข่งขันในการส่งออกข้าวในตลาดโลกได้อย่างตรงจุด
นายสุดสาคร กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาข้าวไทย กรมการข้าวจึงได้กำหนดจัดงาน "การประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลก ประจำปี 2563" ในวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีขบวนการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงพันธุ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยประสานความร่วมมือให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ภายในงานมีการจัดนิทรรศการประกวดข้าวที่โดดเด่น 5 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวเหนียว อีกทั้งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านข้าว อาทิ สมาคมรวบรวมและผลิตเมล็ดพันธุ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ฯลฯ มาร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายการตลาดนำการผลิต และยังช่วยเพิ่มแนวคิดมุมมองทางด้านกำลังการผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆให้กับงานวิจัยทางด้านข้าว ตลอดจนเปิดโอกาสให้เกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ และผู้ที่สนใจ สามารถส่งพันธุ์ข้าวเข้าประกวด ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือก จะนำไปต่อยอดสู่การขยายเชิงการค้า เป็นข้อมูลการวางแผนออกติดตาม และสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประเมินผลที่มีความโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพและปริมาณการผลิตสูงมากขึ้นต่อไป
สำหรับการจัดงานประกวดข้าวในครั้งนี้ มีผู้ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวดจำนวน 131 ตัวอย่าง โดยคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกตัดสินผู้ชนะทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวหอมมะลิไทย (พันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ105) นายพศิน ตรงใจ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวหอมไทย (พันธุ์ข้าว PTT13036-5-1-1-1-6) ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวขาวพื้นนุ่ม (พันธุ์ข้าว พิษณุโลก80) สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวขาวพื้นแข็ง (พันธุ์ข้าว 20RJP-2) บริษัท รวมใจพัฒนาความรู้ จำกัด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวเหนียว (พันธุ์ข้าว กข6) นางทองใส คำเจริญ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด