กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส
เป็นสายการบินแรกในตะวันออกกลางและเป็นลำดับที่ 5 ของโลก ที่ได้รับการรับรองระดับสูงสุดในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment programme) ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)ใช้ฝูงบินโบอิ้ง 787 จำนวน 30 ลำ และแอร์บัส A350 จำนวน 49 ลำอย่างเต็มที่ งดใช้แอร์บัส A380 ทั้งหมดจำนวน 10 ลำเนื่องด้วยเหตุผลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านการพาณิชย์สถิติมาตรฐานระบุฝูงบินแอร์บัส A350 ของกาตาร์ แอร์เวย์ส ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ CO? น้อยกว่าแอร์บัส A380 ถึง 20 ตันต่อชั่วโมงบิน (per block hour*) ในบางเส้นทาง
สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส เป็นเพียงไม่กี่สายการบินที่ไม่เคยหยุดให้บริการในช่วงวิกฤต ฝูงบินที่หลากหลาย ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงในการเผาผลาญเชื้อเพลิง ช่วยให้สายการบินฯสามารถเลือกประเภทอากาศยานให้เหมาะสมกับความต้องการที่ลดลงได้ ทั้งนี้ ผลกระทบจาก COVID-19 ยังทำให้สายการบินฯจำเป็นต้องระงับการให้บริการเครื่องบินแอร์บัส A380 ที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเหตุผลด้านการพาณิชย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้โดยสารที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเชื่อมั่นได้ว่ากาตาร์ แอร์เวย์สได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและประเมินความต้องการของผู้โดยสารและสินค้าคาร์โกเพื่อเลือกประเภทอากาศยานให้เหมาะสมที่สุดในแต่ละเส้นทาง การประเมินที่ถูกต้องแม่นยำทำให้สายการบินฯใช้ฝูงบินแอร์บัส A350 และโบอิ้ง 787 ได้อย่างเต็มกำลัง ช่วยพาผู้โดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยและขนส่งสินค้าคาร์โกในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อสนับสนุนกิจการการค้าทั่วโลกและการขนส่งเวชภัณฑ์การแพทย์และสินค้าช่วยเหลือ
กาตาร์ แอร์เวย์สเป็นสายการบินที่ให้บริการเครื่องบินแอร์บัส A350 มากที่สุดในโลก และเป็นลูกค้าเปิดตัวของรุ่น A350-900 และ A350-1000 ปัจจุบัน สายการบินฯมีเครื่องบิน A350 ทั้งหมดจำนวน 49 ลำซึ่งมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 2 ปีครึ่ง และมีรูปแบบการจัดปริมาณที่นั่งเต็มประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน ทำให้ A350 จัดเป็นเครื่องบินที่เหมาะที่สุดสำหรับแผนฟื้นฟูเครือข่าย นอกจากนี้ เครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 30 ลำก็มีขนาดและปริมาณที่นั่งที่เหมาะสำหรับเส้นทางยุโรปในช่วงฟื้นฟู โดยสรุปแล้วขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกกำลังทยอยปรับตัวดีขึ้น กาตาร์ แอร์เวย์สเล็งเห็นว่าเครื่องบินแบบ A350 เป็นประเภทที่เหมาะสมสำหรับกลยุทธ์เส้นทางบินระยะไกลที่สำคัญ เช่น ทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก
นายอัคบาร์ อัล บาเกอร์ ประธานบริหารกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส กล่าวว่า กลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์สมีประวัติการเป็นผู้นำด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืนที่แข็งแกร่ง เราเข้มงวดเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในทุกกระบวนการของการวางแผนธุรกิจ เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 5 ปี ถือเป็นฝูงบินที่ใหม่ทันสมัยที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก การวางกลยุทธ์ในการลงทุนกับฝูงบินที่มีประสิทธิภาพทำให้เรามีความหลากหลายในการดำเนินงานโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องบินประเภทใดประเภทหนึ่ง ส่งผลให้เราเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่สายการบินที่ไม่เคยหยุดให้บริการในช่วงภาวะวิกฤตและยังได้ช่วยขนส่งผู้โดยสารกลับภูมิลำเนากว่า 2 ล้านคน กลายเป็นสายการบินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงที่ผ่านมา ความหลากหลายของฝูงบินช่วยให้เราสามารถยืนหยัดให้บริการได้ในช่วงวิกฤตและไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารที่ตกค้างอยู่ทั่วโลก
นายอัคบาร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงฟื้นฟูผู้โดยสารสามารถเชื่อมั่นได้ว่าเราจะให้บริการเที่ยวบินตามตารางอย่างแน่นอนเพื่อพาทุกคนเดินทางไปยังจุดหมายที่ต้องไปโดยใช้ประเภทอากาศยานที่เหมาะสม ดังนั้น เราจะยังคงระงับการให้บริการแอร์บัส A380 จนกว่าความต้องการเดินทางจะเพิ่มขึ้นในระดับที่สมควร จากข้อมูลวิจัยด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นว่า การใช้อากาศยานขนาดใหญ่เมื่อมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารต่ำ ไม่ตอบสนองตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของเราและไม่มีเหตุผลด้านการพาณิชย์สนับสนุนเพียงพอ ดังนั้นฝูงบินที่เหมาะกับความต้องการทั่วโลกในขณะนี้คือแอร์บัส A350 และโบอิ้ง 787 ของเราซึ่งทันสมัยและมีอายุการใช้งานน้อยอีกด้วย
กาตาร์ แอร์เวย์สเป็นสายการบินแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้รับการรับรองระดับสูงสุดในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment programme) ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) นอกจากนี้ ฐานการบินท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด (HIA) ยังได้รับการจัดอันดับ 4 ดาว (4-star rating) จากการประเมินของ GSAS (Global Sustainability Assessment System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายประสิทธิภาพการรองรับผู้โดยสารสู่ 53 ล้านคนต่อปีภายใน พ.ศ. 2565
กาตาร์ แอร์เวย์ส ยังคงยืนหยัดภารกิจพื้นฐานในการพาผู้โดยสารกลับภูมิลำเนาและขนส่งสินค้าจำเป็นไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสายการบินฯเปรียบเทียบระหว่างเครื่องบิน A380 และ A350 ในเส้นทางจากโดฮา ประเทศกาตาร์ สู่ลอนดอน กวางโจว แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส เมลเบิร์น ซิดนีย์ โตรอนโต และนิวยอร์ก ระบุว่าสำหรับเที่ยวบินขาเดียวโดยใช้ A350 สามารถประหยัดเชื้อเพลิงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้อย่างน้อย 16 ตันต่อชั่วโมงบิน (per block hour*) เมื่อเทียบกับ A380 นอกจากนี้ เครื่องบิน A380 ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า A350 ถึงร้อยละ 80 ต่อชั่วโมงบินในเส้นทางดังกล่าว สำหรับเส้นทางเมลเบิร์น นิวยอร์ก และโตรอนโต เครื่องบิน A380 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าถึงร้อยละ 95 ต่อชั่วโมงบิน ในขณะที่ A350 ประหยัดเชื้อเพลิงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าถึง 20 ตันต่อชั่วโมงบิน ทั้งนี้ กาตาร์ แอร์เวย์สจะยังระงับการให้บริการแอร์บัส A380 จนกว่าความต้องการเดินทางจะกลับมาอยู่ในระดับที่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณที่นั่ง
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด (HIA) ยึดถือหลักการด้านความยั่งยืนเช่นกัน โดยมีแผนขยายสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสารกว่า 53 ล้านคนต่อปีภายในปี 2565 และจะเป็นสนามบินแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ได้รับการรับรอง 4 ดาว จากการประเมินของ GSAS ซึ่งเป็นมาตรชี้วัดและประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงจะได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวระดับ Silver ของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เนื่องจากใช้มาตรการด้านนวัตกรรมพลังงานที่มีประสิทธิภาพหลากหลาย ล่าสุดสนามบิน HIA ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก (Third Best Airport in the World) และรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Best Airport in the Middle East) 6 ปีซ้อน
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. กาตาร์ แอร์เวย์ส เปิดบินเพิ่ม 11 จุดหมายปลายทาง ภายใต้แคมเปญ 'Take-off Wednesday’ ได้แก่ บาหลี เบรุต เบลเกรด เบอร์ลิน บอสตัน เอดินเบอระ ลาร์นาคา ลอสแอนเจลิส ปราก วอชิงตัน ดีซีและซาเกร็บ มากที่สุดภายในวันเดียวตั้งแต่เริ่มฟื้นฟูเครือข่ายเส้นทางบิน ตั้งเป้าภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม จะขยายเครือข่ายเส้นทางบินเป็น 450 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สู่ 70 จุดหมายปลายทาง
กาตาร์ แอร์เวย์ส เพิ่มมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยบนเครื่องบินสำหรับผู้โดยสารและพนักงานบริการ ให้พนักงานสวมใส่อุปกรณ์ PPE (Personal Protective Equipment) ได้แก่ ถุงมือ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัยและชุดป้องกันแบบใหม่ที่จะสวมใส่ได้พอดีกับชุดเครื่องแบบลูกเรือ รวมถึงได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการบริการเพื่อลดการสัมผัสระหว่างผู้โดยสารและพนักงานระหว่างเที่ยวบิน
ขณะเดินทาง ผู้โดยสารทุกคนจะได้รับชุดอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือ และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ นอกจากนี้ ยังมีแผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield) สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะแจกให้บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินสำหรับผู้โดยสารเดินทางออกจากท่าอากาศยานฮาหมัด กรุงโดฮา และจะแจกที่บริเวณประตูก่อนขึ้นเครื่องสำหรับผู้โดยสารจากท่าอากาศยานอื่นๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการต่างๆทั้งในห้องโดยสารและสนามบินฮาหมัดได้ที่ qatarairways.com/safety
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารมีความไว้วางใจที่จะวางแผนการเดินทาง สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส จึงเพิ่มทางเลือกมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้โดยสาร โดยสามารถเปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทางได้ภายในระยะทาง 5,000 ไมล์จากจุดหมายปลายทางเดิม ซึ่งจะไม่มีการเก็บค่าส่วนต่างราคาบัตรโดยสารสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่หากเดินทางหลังจากนั้นจะต้องชำระค่าธรรมเนียมต่างๆตามปกติ บัตรโดยสารที่ระบุวันเดินทางภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สามารถขยายอายุตั๋วเป็น 2 ปีนับจากวันที่ออกตั๋ว ตรวจสอบเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ www.qatarairways.com/RelyOnUs
กาตาร์ แอร์เวย์สต้องการที่จะเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระยะยาวในฐานะผู้นำด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบรายงานด้านความยั่งยืนและนโยบายสิ่งแวดล้อมได้ทางเว็บไซด์
คำอธิบายศัพท์ทางการบิน
ชั่วโมงบิน (Block Hour) – หมายถึง ระยะเวลาที่ปฏิบัติการบินจริง นับเวลาตั้งแต่อากาศยานเริ่มเคลื่อนที่จากหลุมจอดของสนามบินต้นทาง โดยมีจุดหมายเพื่อการวิ่งขึ้น จนกระทั่งอากาศยานสิ้นสุดการเดินทาง ณ หลุมจอดของสนามบินปลายทางและเครื่องยนต์ทุกเครื่องดับหรือใบพัดทุกใบหยุด (ที่มา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย)
เกี่ยวกับกาตาร์ แอร์เวย์ส:
สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์สได้รับการการันตีมาตรฐานระดับโลกด้วยรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลสายการบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2562 จากสถาบันจัดอันดับสกายแทรกซ์ ควบรางวัลสายการบินที่ดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง รางวัลชั้นธุรกิจที่ดีที่สุดในโลก และรางวัลที่นั่งชั้นธุรกิจที่ดีที่สุดจากที่นั่งแบบ Qsuite นอกจากนี้กาตาร์ แอร์เวย์สยังเป็นสายการบินเดียวที่เคยได้รับรางวัลสายการบินที่ดีที่สุดในโลกจากสกายแทรกซ์มากถึง 5 ครั้ง
ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด (HIA) ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก (Third Best Airport in the World) จากสถาบันสกายแทรกซ์ World Airport Awards ประจำปี 2563 ผ่านการคัดเลือกจากสนามบินกว่า 550 แห่งทั่วโลก โดยไต่ลำดับขึ้นมาเรื่อยๆตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2557 ขึ้นมาถึงอันดับที่ 4 ในปี 2562 สู่อันดับ 3 ในปี 2563 รวมถึงยังได้รับรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Best Airport in the Middle East) 6 ปีติดต่อกัน และรางวัลบริการดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Best Staff Service in the Middle East) 5 ปีติดต่อกัน
ที่นั่งโดยสารชั้นธุรกิจใหม่ Qsuite เอกสิทธิ์ของสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส สามารถปรับที่นั่งให้เป็นเตียงคู่หรือปรับที่นั่งทั้ง 4 ให้เป็นพื้นที่ร่วมในรูปแบบห้องส่วนตัวพิเศษ ถือเป็นบริการแรกที่มีในชั้นธุรกิจของอุตสาหกรรมการบิน