กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เปิดเผยว่า ทุเรียน เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ผลมีรูปรีถึงกลม เปลือกมีสีเขียวถึงสีน้ำตาล เนื้อในมีสีเหลืองซีดถึงแดง ซึ่งจะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดด และน้ำปานกลาง และจะหยุดเจริญเติบโตเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 22 องศาเซลเซียส ทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังการปลูกไปแล้ว 5-6 ปี และจะให้ผลผลิตสูงเมื่ออายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป สำหรับประวัติทุเรียนในประเทศไทย พบว่า มีการปลูกทุเรียนที่ภาคกลางในสมัยอยุธยา เชื่อได้ว่าเป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทย โดยพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยสามารถจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ตามลักษณะรูปร่างใบ ปลายใบ ฐานใบ ทรงผล และรูปร่างของหนาม คือ 1. กลุ่มกบ มีลักษณะใบรูปไข่ ขอบขนาน ปลายใบแหลมโค้ง ฐานใบกลมมน ทรงผลมี 3 ลักษณะคือ กลม กลมรี และกลมแป้น หนามผลมีลักษณะโค้งงอ จำแนกพันธุ์ได้ 46 พันธุ์ 2. กลุ่มลวง มีลักษณะใบแบบป้อมกลางใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลมและมน ทรงผลมี 2 ลักษณะ คือทรงกระบอก และรูปรี หนามผลมีลักษณะเว้า จำแนกได้ 12 พันธุ์ 3. กลุ่มก้านยาว มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเรียว ทรงผลเป็นรูปไข่และกลม หนามผลมีลักษณะนูน จำแนกได้ 8 พันธุ์ 4. กลุ่มกำปั่น มีลักษณะใบยาวเรียว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ทรงผลเป็นทรงขอบขนาน หนามผลมีลักษณะแหลมตรง จำแนกได้ 13 พันธุ์ 5. กลุ่มทองย้อย มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ทรงผลเป็นรูปไข่ หนามผลมีลักษณะนูนปลายแหลมจำแนกได้ 14 พันธุ์ 6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัดซึ่งมีอยู่ 83 สายพันธุ์ นอกจากนี้แล้วยังมีกลุ่มลาซึ่งเป็นทุเรียนไร้หนาม พันธุ์หายากจากอเมริกา
ทุเรียน เป็นพืชชนิดหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดชุมพร ซึ่งพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และกระดุม ด้วยเหตุนี้ เพื่อไม่ให้ทุเรียนพื้นบ้านต้องสูญหายไป จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ทุเรียนโลก เพื่อรวบรวมทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆที่นิยมบริโภค และที่อยู่ภายในประเทศเท่าที่จะรวบรวมได้ ตามหมวดหมู่ที่นักวิชาการจัดเอาไว้ รวมทั้งพันธุ์ทุเรียนจากต่างประเทศที่นิยมบริโภคในหมู่นักบริโภคปัจจุบัน และเพื่อจัดเป็นสถานที่เรียนรู้ให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ และบริการสายพันธุ์ทุเรียน ตลอดจนวิจัยและพัฒนาให้เกิดทุเรียนพันธุ์ใหม่ขึ้นในอนาคต
นายสมชาย ชื่นชมแสง อาจารย์สาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรผู้ดูแลโครงการอนุรักษ์ทุเรียนโลก กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์ทุเรียนโลก ปลูกในพื้นที่ 6.35 ไร่ ปัจจุบันมีทุเรียนที่อนุรักษ์ไว้ 41 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มกบ มีพันธุ์กบสุวรรณ กบพิกุล กบชายนา กบแม่เฒ่า กบวัดกล้วย กบตาขำ กบเล็บเหยี่ยว กบเจ้าคุณ กบหน้าศาล กลุ่มลวง มีพันธุ์ชะนี ย่ำมะหวาด แดงรัศมี กลุ่มก้านยาว มีพันธุ์ก้านยาว ก้านยาวสีนาค กลุ่มกำปั่น มีพันธุ์หมอนทองนนทบุรี กำปั่นเหลือง กำปั่นเจ้ากรม กำปั่นพวง ชายมะไฟ กลุ่มทองย้อย มีพันธุ์นมสวรรค์ ฉัตรสีนาค นกหยิบ ธรณีไหว ทองย้อย กลุ่มเบ็ดเตล็ด มีพันธุ์พวงมณี สาวชมเห็ด ตะพาบน้ำ กระปุกทองดี กระดุม กระเทยเนื้อเหลือง เม็ดในยายปราง จอกลอย ทับทิม หลงลับแล หลินลับแล หนามดำ สาลิกา นกกระจิบ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์หมอนทองภาคใต้ และพันธุ์ต่างประเทศอีก 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์แดงอินโดของอินโดนีเซีย และพันธุ์มูซานคิงของมาเลเซีย โดยในแปลงโครงการทุเรียนโลกจะมีทุเรียน 40 สายพันธุ์ที่กล่าวข้างต้น 120 ต้น และพันธุ์หมอนทอง 30 ต้น รวมทั้งหมด 41 สายพันธุ์ 150 ต้น ใช้วิธีปลูกระยะ 8x8 เมตร ปลูกทั้งหมด 10 แถว แต่ละแถวใช้ทุเรียน 4 สายพันธุ์ๆละ 3 ต้น สลับด้วยพันธุ์หมอนทอง 1 ต้น จะได้ทุเรียน 15 ต้นต่อแถว ด้วยวิธีปลูกนี้ เพื่อต้องการที่จะทำให้เกิดทุเรียนสายพันธุ์ใหม่จากการผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ สำหรับระบบน้ำใช้น้ำจากสระ 25 ไร่ สูบน้ำจากสระเข้าระบบน้ำ โดยวางหัวสปริงเกอร์ 2 หัวต่อทุเรียน 1 ต้น แต่เนื่องจากพื้นที่ปลูกเป็นดินร่วนปนทราย ในช่วงแล้งต้องรดน้ำวันเว้นวัน อย่างไรก็ตามในการปลูกทุเรียนจะเน้นปลูกโดยใช้สารชีวภาพ แต่ในกรณีที่มีการระบาดของโรคหรือแมลง จำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วยควบคุมการระบาด เพื่อลดอัตราเสี่ยงการตายของทุเรียน
“ทั้งนี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ขอเชิญเที่ยวงานเกษตรวิชาการ “เกษตรตะโก” ครั้งที่ 5 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 20 กันยายน 2563 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรโดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้โครงการอนุรักษ์ทุเรียนโลก พร้อมชิมทุเรียนพันธุ์หมอนทองภาคใต้ฟรี ติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการอนุรักษ์ทุเรียนโลกได้ที่โทร. 099-198-5985 หรือโทร. 077-611-881 หรือ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร” ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร กล่าวเชิญชวน