กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยักษ์ใหญ่รีไซเคิลกระดาษได้ทุน TED Fund สร้างนวัตกรรมห่อหุ้มผลไม้ป้องกันเพลี้ยแป้งและถนอมผิว ลดความสูญเสียให้เกษตรกรแถมราคาส่งออกเพิ่ม เผยชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแปดริ้วใช้แล้วสุดแฮปปี้
นายชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) หน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีไอเดีย หรือนวัตกรรม และเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นแก้ปัญหาศัตรูพืช และเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทย TED Fund จึงได้อนุมัติทุนให้กับ บริษัท เอ พี. รีไซเคิล อินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษ ดำเนินโครงการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมรีไซเคิลเศษกระดาษ เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ห่อหุ้มยกระดับคุณภาพมะม่วงน้ำดอกไม้สำหรับการส่งออก โดยล่าสุด นวัตกรรมดังกล่าว สามารถผลิตและนำออกเผยแพร่ให้กับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ได้แล้ว
นางปนัดดา ปิยมหพงศ์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.พี. รีไซเคิล อินดัสเตรียล จำกัด (www.aprecycle.com) ผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษ เปิดเผยว่า จากการศึกษาตลาดผลไม้ส่งออกของไทยพบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกมากที่สุด และเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยมีญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก และยังมีส่วนแบ่งในตลาดยุโรป นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งจีน ฯลฯ โดยเฉพาะจีนได้มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความเชื่อเรื่องสีที่เป็นมงคล เช่น สีเหลืองทอง บริษัทจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนากระดาษรีไซเคิลให้เป็นนวัตกรรมห่อหุ้มมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่สามารถปกป้องผิวของมะม่วงจากศัตรูแมลงไม้ผลโดยเฉพาะเพลี้ยแป้ง และทำให้ผิวของมะม่วงเป็นสีทองได้สำเร็จ ด้วยทุนจาก TED Fund
“นวัตกรรมนี้ มีการเผยแพร่ออกไปแล้ว โดยได้นำไปใช้กับสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา วิธีการก็คือ นำนวัตกรรมกระดาษเคลือบกลิ่นสมุนไพรจากธรรมชาติ ไปห่อหุ้มมะม่วงฯ ตั้งแต่อยู่บนต้น จากนั้นเกษตรกจะใช้ถุงป้องกันแสงที่นิยมใช้กัน สวมทับอีกชั้นหนึ่ง ผลที่ได้คือ มะม่วงฯ ไม่ติดเพลี้ยแป้งและมีผิวสีทองที่สวยงาม ผลผลิตมีเท่าไหร่ก็ขายได้เท่านั้นไม่ต้องคิดทิ้ง ผู้ส่งออกก็ได้ราคาเพิ่มขึ้นเพราะคุณภาพของมะม่วงฯ ดีขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องโรคพืชกับประเทศปลายทาง”
นายชายวิทย์ กล่าวต่อไปว่า จากความสำเร็จของนวัตกรรมห่อหุ้มมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้ผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้ เตรียมนำขยายโครงงานวิจัยไปยังสวนมังคุด ซึ่งเป็นราชินีผลไม้ไทยและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งผลไม้ส่งออกอื่นๆ ทำให้ปัญหาของเกษตรกรได้รับการแก้ไข มีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกก็จะได้ราคาจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีนวัตกรรม หรือมีเทคโนโลยี ที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ในลักษณะนี้ ติดต่อ TED Fund เพื่อขอรับคำปรึกษา ขอรับทุนสนับสนุน และช่วยกันยกระดับการเกษตรของไทยให้เกิดความยั่งยืนต่อไป