กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าสนับสนุนโครงการ Smart University สร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อยกระดับการศึกษาต่อเนื่อง จับมือ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดโครงการ “Mahidol Digital Convergence University” ของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ให้กับภาคการศึกษา ร่วมกันพัฒนาศักยภาพ ห้องเรียนเสมือนจริงในรูปแบบ Virtual Platform ที่ล้ำสมัย ภายใต้แนวคิด Study Anywhere รองรับการเรียนการสอนและการประชุมระยะไกลจากทั่วโลก ประกาศเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ตอบโจทย์โลกการศึกษารองรับวิถีใหม่ หรือ New Normal อย่างไร้รอยต่อ อีกขั้นแห่งความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างสององค์กรเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากรูปแบบเดิมมาเพื่อรองรับวิถีใหม่ให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในระยะที่ผ่านมาก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของระบบการเรียนการสอนและการทำงานให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยปลอดภัยและมีระยะห่างทางสังคม ซึ่งเทคโนโลยีหลายตัวเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ และทดลองใช้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานจริง ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2563 ที่กำลังจะเปิดในเดือนสิงหาคม มหาวิทยาลัยได้วางมาตรการระยะสั้นรองรับการศึกษาวิถีใหม่สำหรับภาคการศึกษาแรกปี 2563 โดยจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนผ่านห้องเรียนเสมือนจริง ในรูปแบบ Virtual Platform ที่มีการพัฒนาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับนักเรียนชั้นปีอื่นก็จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ตามความเหมาะสม สำหรับมาตรการระยะยาวนั้นทางมหิดลได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มมากขึ้น พร้อมอบรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอน พัฒนาเทคนิคการสอนออนไลน์ให้อาจารย์ รวมถึงประเมินอาจารย์เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ใกล้เคียงการเรียนการสอนแบบในห้องเรียนจริง (In-person learning environments) ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งมหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคลากร จะมีความสามารถทางดิจิทัลเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสถานการณ์
นายภานุ โชติประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Corporate Banking 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกกำลังนำศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของทั้งสององค์กรร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัยสู่การเป็น Smart University นับตั้งแต่ปี 2561 ได้ริเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในทุกมิติและขยายโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ทุกพื้นที่ ทุกวิทยาเขตและเข้าถึงนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งหมด กว่า 67,000 คน วันนี้วิสัยทัศน์ที่เดินหน้าร่วมกันตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่สถาบันการศึกษาจะต้องปิดดำเนินการชั่วคราว สามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วย Virtual Platform ห้องเรียนเสมือนจริงที่สามารถทดแทนประสบการณ์การเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เชื่อมโยงการเรียนการสอนและการประชุมระยะไกลระหว่างวิทยาเขตและเขตพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการประชุมกับสถาบันในต่างประเทศ สร้างมิติใหม่ทางการศึกษาให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ การใช้ Virtual Platform เพื่อสนับสนุนห้องเรียนเสมือนจริงเป็นหนึ่งในหลากหลายโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่มหาวิทยาลัยแถวหน้าของโลก และเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดท้าทายให้ภาคการศึกษาต้องเร่งปรับตัวรับกับบริบทใหม่ที่แตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง มหาวิทยาลัยมหิดลจึงกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Digital Convergence University โดยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกันออกแบบและสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้พร้อมเข้าสู่ระบบการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งนำมาสู่การริเริ่มโครงการมากมายตามมา หนึ่งในโครงการสำคัญคือการพัฒนา Virtual Platform ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กร ได้รับการพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มจากการวางระบบเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่และวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ศาลายา กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมระบบ Interactive สำหรับอาจารย์และนักศึกษา และเนื่องด้วยความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคมช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับระบบนิเวศดิจิทัลที่ได้ร่วมกันวางรากฐานและสร้างความคุ้นเคยสำหรับการใช้งานก่อนหน้านี้ ทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และแอปพลิเคชัน We Mahidol ที่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ ผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างสะดวกนั้น มีผลสนับสนุนให้การพัฒนารูปแบบ Virtual Platform ที่จัดทำไว้เพื่อรองรับการเรียนการสอนในต่างพื้นที่ ต่างวิทยาเขตสามารถนำมาใช้ทดแทนการเรียนของทุกชั้นเรียนภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ในทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปลดล็อคข้อจำกัดสำหรับการเรียนการสอนข้ามประเทศ ผู้เรียนและผู้สอนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันได้แบบเรียลไทม์ ทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนยังคงได้รับความรู้อย่างเต็มศักยภาพแบบเสมือนอยู่ในห้องเรียน
ทั้งนี้ Virtual Platform ที่พัฒนาขึ้นสามารถตอบโจทย์ทั้งเพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน การอบรม การประชุม สามารถรองรับการใช้งานของอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ได้อย่างเสถียรและคล่องตัว ช่วยให้การเรียนทางไกลเป็นเรื่องง่าย ดีต่อคุณภาพชีวิต และลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างประสบการณ์ห้องเรียนเสมือนจริง ผ่านโปรแกรม Webex ไปแล้วกว่า 65,000 ชั้นเรียน/ห้องประชุม มีจำนวนการ Join เข้าเรียน/เข้าประชุมกว่า 750,000 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเข้ากับวิถีการศึกษาแห่งอนาคตในบริบทใหม่ผ่านห้องเรียนเสมือนจริงได้อย่างกลมกลืน และขณะนี้กำลังขยายขอบเขตไปยัง Co Working และ Co Learning Space ที่เปิดให้บุคลากร และนักศึกษา สามารถเชื่อมโยงกันผ่าน Virtual Platform ด้วย Webex รวมถึงการต่อยอดแอปพลิเคชัน We Mahidol เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาเรียนรู้และประชุมโดย log in ผ่านระบบออนไลน์อย่างสะดวกและคล่องตัว ตอกย้ำถึงศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทย