กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ซีพี ออลล์
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ชาวไทยร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นกำลังที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ซึ่งกำลังในทางพระพุทธศาสนา หรือ พละ 5 นั้น เป็นอย่างไร พระราชปฏิภาณโกศล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ กรุงเทพฯ ได้มาไขข้อสงสัยในหัวข้อ “พละ 5 ยุคใหม่” บนเวทีธรรมบรรยาย “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” โดย บมจ.ซีพี ออลล์ ณ ชั้น 11 อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม
พระราชปฏิภาณโกศล เล่าว่า ภาวะโควิด 19 เป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ทั่วมุมโลก ส่งผลกับภาวะเศรษฐกิจทุกหย่อมหญ้า ประเทศไทยตอนนี้ถือว่าควบคุมได้ดี เป็นที่ชื่นชม จึงเป็นเหตุหนึ่งที่คนมักพูดกันว่าคนไทยมักผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ได้ด้วยดี เราผ่านวิกฤตทั้งหลายเหล่านี้ไปได้ก็ด้วยกำลังของเราทั้งหลาย วันนี้จึงฝากเรื่องของกำลังในพระศาสนา กำลังของพระศาสนาเป็นหลักธรรมหรือองค์ธรรมที่เรียกว่า พละ มี 5 ประการ
พละ 5 ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา กำลังข้อแรก ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อในการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนที่ศรัทธา ต้องเห็น ต้องมีแนวทาง ศรัทธาพละ ศรัทธาในความเชื่อ มีลักษณะ 2 ประการ หนึ่งคือ แจ่มใส เวลาเราศรัทธาเราเชื่ออะไร เราจะแจ่มใสต่อสิ่งนั้น มีความอิ่มเอิบ อีกตัวหนึ่งคืออยากทำ มีความแจ่มใสและอยากลงมือทำ สิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่าศรัทธาก็จะเกิดขึ้นกับตัวเราตลอดเวลา เราเห็นใครพูดเรื่องนี้ก็อยากไปทำ ถ้าเมื่อไปแล้ว จิตเราแจ่มใส ผ่องใส และอยากลงมือปฏิบัติหรือไม่ นี่คือศรัทธา นี่เป็นข้อแรกแห่งกำลัง
กำลังข้อที่สอง วิริยะ คือ ความเพียร เพียรพยายามที่จะทำการงานทั้งหลาย ต้องมีความเพียร ความเพียรนี้ต้องมีความสม่ำเสมอ ถึงจะเป็นกำลัง ลักษณะแห่งความเพียรคือ การค้ำและชู สิ่งที่กำลังจะล้มทั้งหลาย เช่น บ้านเรือน ก็ค้ำไว้ ชูไว้ ประคอง กิจการการงานด้วยความเพียรเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จ แต่ไม่ได้ลดละความเพียร ต้องทำอยู่ตลอดเวลา หากขาดความเพียร ย่อหย่อนความเพียร ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ย่อมไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่มีกำลังแน่นอน
กำลังข้อที่สาม สติ คือ ความระลึกได้ ผู้คนทั้งหลายต้องมีสติ ต้องประคองสติตลอดเวลา จะมากจะน้อยสุดแต่บุคคลนั้นจะมีสติมาก สติน้อย ลักษณะของสติมี 2 ประการ คือ การเตือน และการถือเอา เตือนเพื่อให้ระลึกได้ การถือเอาเราจะเห็นสิ่งใดที่เป็นคุณสิ่งใดเป็นโทษ เมื่อเรามีสติแล้วเราจะเห็นภาพแห่งกำลังของเราชัดเจนขึ้น
กำลังข้อที่สี่ สมาธิ คือ ความตั้งมั่น มุ่งมั่นให้เป็นไปตามประสงค์ ลักษณะของสมาธิมีลักษณะเป็นประธาน เป็นยอด หรือหัวหน้าในการทำงาน อุปมาเป็นพระราชานำทัพไปรบ หรือลักษณะเหมือนปลายลูกศรพุ่งไปสู่จุดหมายที่เป็นเป้า ยิ่งดิ่งเท่าไหร่ยิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ มีกำลังมาก จะทำสิ่งใดย่อมสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไว้
กำลังข้อสุดท้าย ปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร ความรอบรู้ตามความเป็นจริง มีลักษณะ 2 อย่าง คือ ตัด และอีกข้อคือสว่าง การตัดนี้อุปมาดังการเกี่ยวข้าว เวลาที่จะเกี่ยวข้าวนั้น เราจะใช้มือขวาถือเคียว ส่วนมือซ้ายจะรวบกอข้าวเอามาอยู่ในกำมือ การรวบกอข้าวเหมือนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ พิจารณาโดยแยบคาย เมื่อรวบแล้ว ใช้มือขวาที่ถือเคียวตัดสิ่งที่วิเคราะห์สังเคราะห์แล้ว การตัดสิ่งที่วิเคราะห์ สังเคราะห์แล้ว เกิดเป็นปัญญา ส่วนความสว่าง ก็ชัดเจนว่า เปรียบเหมือนการถือเทียนเข้าห้องมืด เมื่อนำแสงเทียน แสงสว่างเข้าไปแล้วเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น นั่นคือปัญญา
ท่านยังเล่าต่ออีกว่า การศึกษาแต่ละองค์ธรรมต้องให้พอดี ต้องพิจารณาหาเหตุ หาผล เวลาศึกษาธรรมะต้องให้ครบบองค์ธรรม ตรงไหนมีศรัทธา ต้องมีปัญญา ศรัทธาเป็นตัวนำ พร้อมด้วยวิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ควบคู่กันไป จนเกิดความสำเร็จเป็นกำลังที่ยิ่งใหญ่มหาศาล หลักธรรมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน คนมีปัญญามากก็ไม่สำเร็จถ้าขาดสมาธิ ถ้าท่านทั้งหลายมีพละ จะมีกำลัง เมื่อได้นำหลักธรรมมาปรับปรุงให้เห็นองค์ธรรมชัดเจนขึ้น เสริมกำลังในการดำเนินชีวิต ในการงาน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด เป็นกำลังสำคัญในทางด้านจิตใจ
สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดีๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” สามารถติดตามได้ผ่านระบบ live สด ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. ทางช่องทาง facebook fanpage CPALL และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน