กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (23 ก.ค. 63 เวลา 06.00 น.) เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ นครราชสีมา เลย ปทุมธานี กาญจนบุรี ชลบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 13 อำเภอ 21 ตำบล 38 หมู่บ้าน 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (พัทยา) ประชาชนได้รับผลกระทบ 235 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์ภัยคลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำท่วมขัง พร้อมสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัด ปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (23 ก.ค. 63 เวลา 06.00 น.) ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลากรวม 11 จังหวัด 13 อำเภอ 21 ตำบล 38 หมู่บ้าน 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (พัทยา) ประชาชนได้รับผลกระทบ 235 ครัวเรือน โบสถ์คริสต์ 1 แห่ง ถนน 9 สาย รถยนต์ 2 คัน สะพานไม้ชำรุด 1 แห่ง คอสะพาน 8 แห่ง ฝาย 12 แห่ง พื้นที่การเกษตร 10 ไร่ โค 2 ตัว ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอปางมะผ้า 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน เชียงใหม่ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ลำพูน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอแม่ทา 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ลำปาง เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอเมืองปาน และอำเภอวังเหนือ 6 ตำบล 19 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108 ครัวเรือน เพชรบูรณ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน นครราชสีมา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอปากช่อง 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13 ครัวเรือน เลย เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอเชียงคาน และอำเภอด่านซ้าย 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ปทุมธานี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอคลองหลวง 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน กาญจนบุรี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอเลาขวัญ 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน ชลบุรี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอบางละมุง 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4 ครัวเรือน นครศรีธรรมราช เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอท่าศาลา 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์ภัยคลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ และยานพาหนะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป