กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
สบร. ประกาศเชิดชูเกียรติคุณ ๑๓ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย หวังกระตุ้นคนไทยให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของภาษาไทย และร่วมรำลึกถึงคุณูปการของบุคคลสำคัญต่อการพัฒนาภาษาไทย
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศเชิดชูเกียรติคุณ ๑๓ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย พร้อมจัดแสดงนิทรรศการ “ประวัติและผลงานของ ๑๓ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย” และ “ตัวอย่างหนังสือแบบเรียนไทยในอดีต” ที่หอสมุดแห่งชาติ หวังกระตุ้นคนไทยให้เห็นคุณค่าความสำคัญของภาษาไทย และร่วมรำลึกถึงคุณูปการของบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาษาไทย ที่ได้ริเริ่มสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยรายนาม ๑๓ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย ผู้ได้รับการที่ได้รับการเชิดชูเกียรติคุณในครั้งนี้ มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ แบ่งเป็น ๕ ด้าน ๑) ปฐมาจารย์ด้านการประดิษฐ์อักษรไทย ๒) ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยและอักษรศาสตร์ชั้นสูง ๓) ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นก่อนระบบการศึกษาในโรงเรียน ๔) ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นตามระบบการศึกษาในโรงเรียน และ ๕) ปฐมาจารย์ด้านพจนานุกรม ประกอบด้วย
๑. ปฐมาจารย์ด้านการประดิษฐ์อักษรไทย ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
๒. ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยและอักษรศาสตร์ชั้นสูง ได้แก่
๑) พระโหราธิบดี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๒) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๓) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
๓. ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นก่อนระบบการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่
๑) พระเทพโมลี (ผึ้ง)
๒) พระสุนทรโวหาร (ภู่)
๓) นายมี (เสมียนมี)
๔) พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร)
๔. ปฐมาจารย์ด้านแบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นตามระบบการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่
๑) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓) ฟรองซัว ตูเวอเนท์ ฮีแลร์ (Francois Touvenet Hilaire) หรือ ฟ. ฮีแลร์ (F. Hilaire)
๕. ปฐมาจารย์ด้านพจนานุกรม ได้แก่
๑) พระสังฆราช ปาเลอกัว (Jean-Baptiste Pallegoix)
๒) หมอ บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley)
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ในฐานะประธาน คณะกรรมการพิจารณาเชิดชูเกียรติคุณปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อหนังสือแบบเรียนไทย เปิดเผยว่า “ด้วยนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และเนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สบร. จึงกำหนดจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาษาไทย ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ด้วยการจัดงานเชิดชูเกียรติคุณ “ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย” เพื่อประกาศยกย่อง “ครูต้นแบบ” ผู้มีคุณูปการต่อภาษาไทยและแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร และเรียนรู้ของประชาชนคนไทยซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งจะนำไปสู่การรู้รักและพัฒนาภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป”
นายวีระ กล่าวต่อไปว่า “สบร. โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย ได้แก่ นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ นางชมัยภร บางคมบาง ศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ศาสตราจารย์ สุกัญญา สุจฉายา รองศาสตราจารย์
ดร.สุปาณี พัดทอง นางสาวอรสรา สายบัว นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ รองศาสตราจารย์ดร.ปรมินท์ จารุวร และนายโตมร ศุขปรีชา หวังว่าการเชิดชูเกียรติคุณ ๑๓ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทยในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และบุคคลในแวดวงวิชาชีพที่ใช้ภาษาไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ทุกวัน ทั้งยังส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ สืบสาน และอนุรักษ์มรดกและเอกลักษณ์ด้านภาษาไทยให้คงอยู่ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชน และผู้ที่สนใจด้านภาษาไทย ได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเผยแพร่ความรู้ภาษาไทย และผลงานในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า ขณะเดียวกัน การเรียนรู้ภาษาไทยยังเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมุ่งสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ประธาน สบร. กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา สบร. ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการกระตุกต่อมคิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการให้บริการของแหล่งเรียนรู้ต้นแบบและร่วมกับแหล่งเรียนรู้เครือข่ายทั่วประเทศ โดยในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติในปีนี้ สบร. และ หน่วยงานภายใน ซึ่งได้แก่ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) จะจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาไทยและส่งเสริมการอ่านทั้งกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฏาคม ณ อุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) เวิลด์ และ ณ มิวเซียมสยาม สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชยทั้งสัปดาห์
ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมงานเชิดชูเกียรติคุณปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย ที่จัดขึ้นที่หอสมุดแห่งชาติแล้วผู้ที่สนใจยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลความรู้ในด้านต่างๆ ได้ใน www.okmd.or.th และ www.facebook.com/OKMDInspire ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลความรู้การศึกษา การประกอบธุรกิจและการลงทุน สุขภาพอนามัย ภาษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น