กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--
CAT – TOT ผนึกกำลังนำร่องให้บริการอินเทอร์เน็ตในชลบุรีและราชบุรี มั่นใจเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพสูงสุดให้ลูกค้าองค์กรด้วยเส้นทางและระบบสำรองควบคู่พร้อมเชื่อมต่อออกต่างประเทศ 'การันตีไม่มีล่ม’ 100% ส่วนลูกค้าทั่วไปจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าในการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ว่าขณะนี้ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมในขั้นตอนต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดยให้ความสำคัญกับการให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบ และในขณะเดียวกันได้พิจารณาแนวทางการใช้ศักยภาพของทั้งสองหน่วยงานที่มีอยู่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้จัดทำโครงการนำร่องให้บริการอินเทอร์เน็ตร่วมกันใน 2 รูปแบบ ได้แก่ โซลูชันอินเทอร์เน็ตประสิทธิภาพสูงสำหรับธุรกิจ และบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้าทั่วไป โดยเริ่มให้บริการพร้อมกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563
สำหรับการให้บริการโซลูชันอินเทอร์เน็ตประสิทธิภาพสูงสำหรับธุรกิจ ทั้งสองหน่วยงานให้บริการนำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จ.ระยอง และในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอันดับ 1 ของประเทศด้วยการรับประกันคุณภาพการให้บริการ 'การันตีไม่มีล่ม’ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะสร้างความแข็งแรงของเครือข่ายอย่างเต็มที่ด้วยการเพิ่มเส้นทางสำรอง (Dual Homing) และเพิ่มทางออกเกตเวย์ (Duplex Gateway) เพื่อให้รองรับแบนด์วิดท์ในการเชื่อมต่อออกต่างประเทศสูงสุด 100% พร้อมมีแพ็กแกจให้เลือกรูปแบบการเชื่อมต่อและระดับความเร็วที่เหมาะสมแก่การใช้งาน
ส่วนการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไปในจังหวัดราชบุรีนั้น CAT และ TOT ได้ร่วมกันให้บริการ ติดตั้งวงจร ดูแลระบบบริหารจัดการ รวมทั้งการแก้ไขเหตุขัดข้อง ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้นจากทรัพยากรเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นของทั้งสององค์กร ซึ่งขณะนี้ได้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในแคมเปญแพ็กแกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยความเร็ว 100/50 Mbps ฟรีค่าใช้บริการ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดให้บริการ โดยได้ติดตั้งให้บริการแล้วกว่า 25,000 วงจร
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงผลดีของการดำเนินงานร่วมกันของทั้งสององค์กรในโครงการนี้ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการควบรวมกิจการ TOT และ CAT
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแก่ลูกค้าทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปและองค์กรโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาร่วมกันให้บริการ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายสำคัญใน
การควบรวมทั้งสององค์กรคือการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนและลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยจากการดำเนินงานในครั้งนี้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมถึงความคืบหน้าที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมกับประชาชนและประเทศ”
ด้านพันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยถึงการควบรวมกิจการระหว่างสองหน่วยงานว่ามีความชัดเจนมากขึ้นจากการทำงานร่วมกันในด้านต่าง ๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการควบรวมกิจการ CAT และ TOT เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563
“การนำร่องให้บริการร่วมกันนอกจากจะเป็นเพิ่มมูลค่าบริการให้กับลูกค้าแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการร่วมมือกันของสองหน่วยงาน และความจริงใจที่จะพัฒนาบริการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการควบรวมกิจการฯ ไปสู่การเป็น NT ทั้งนี้ด้วยจุดแข็งของ CAT ในเรื่องโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน จะสนับสนุนการให้บริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลโซลูชันที่หลากหลาย รองรับไลฟ์สไตล์วิถึใหม่ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน”
นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กล่าวถึงผลดีของการควบรวมว่าจะทำให้เกิดการเดินหน้าของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว
“การเปิดโครงการนำร่องการให้บริการร่วมกันในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการพัฒนาบริการและระบบสื่อสัญญาณที่มีความครอบคลุม รวมทั้งมีทีมงานดูแลลูกค้า ติดตั้งและซ่อมบำรุงที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อควบรวมทั้งสององค์กรแล้ว NT จะเป็นกลไกของรัฐที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศและประชาชนสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเข็มแข็ง ซึ่งทีโอทีพร้อมที่จะนำทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสัญญาณโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความชำนาญในการให้บริการซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้คนไทยสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”