กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. แถลงความคืบหน้าของโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ได้ดำเนินการมาครบ 1 ปี และเชิญชวนทุกภาคส่วนในตลาดทุนร่วมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมด้านธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ด้วยการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องในปีที่ 2 เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่ตลาดทุนไทยและประเทศไทย
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ 12 แห่งในตลาดทุน พร้อมใจกันดำเนิน “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เพื่อเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนร่วมประกาศตนเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี และมีพิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่14 สิงหาคม 2562 รวมทั้งได้สานต่อโดย ก.ล.ต. ร่วมกับ 9 องค์กร* จัดตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network หรือ TRBN) เพื่อเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนร่วมมือกันนำสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีพิธีเปิดตัวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 นั้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. แถลงความคืบหน้าของโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ในวาระที่ดำเนินการมาครบ 1 ปี ซึ่งสรุปการดำเนินงานได้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (2) ความรับผิดชอบต่อสังคม (3) การสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจในตลาดทุนคำนึงถึงการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) และ (4) การตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในทุกมิติ โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุน รวม 34 โครงการ 133 กิจกรรม** โดยมีโครงการต่าง ๆ เช่น
โครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” โดย ก.ล.ต. ร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) เชิญชวนบริษัทจดทะเบียน และบริษัทอื่น ๆ ที่มีอาคารหรือที่ทำการอยู่ในแนวถนนวิภาวดีรังสิตมาร่วมกันบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบขยายผลไปยังองค์กรและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยได้มีบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่มีที่ตั้งบนถนนวิภาวดีรังสิตที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 32 แห่ง- โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้กับการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สอดรับกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดย TRBN และองค์กรภาคีเครือข่าย รวมทั้ง ก.ล.ต. ร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อดูแลด้านสังคม ได้แก่ ความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดร้าน Cafe Amazon for Chance สาขาที่ 9 ที่ให้บริการโดยผู้บกพร่องทางการได้ยิน ณ สำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งโครงการ Happy Money, Happy Retirement ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ซึ่งมีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นเลขานุการโครงการ เป็นการส่งเสริมให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถกำหนดนโยบายและกลไกป้องกันคอร์รัปชัน ส่งผลโดยตรงต่อการลดความเสี่ยงของปัญหาสินบน และการให้บริการภาครัฐมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้นความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนมีความเข้าใจในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อประยุกต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายองค์กร และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจัดหลักสูตรอบรมให้แก่บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” โดย TRBN ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เชิญชวนภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ สนับสนุนงบประมาณให้แก่ชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า ให้ดูแลและอนุรักษ์ป่า ป้องกันและลดปัญหาไฟป่า รวมทั้งสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่ชุมชน และลดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ตัวเมือง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ และเชิญชวนองค์กรอื่นเข้าร่วมสนับสนุนด้วย โดยมีภาคเอกชนที่เข้าร่วมแล้ว 5 บริษัท ดังนี้ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)โครงการด้านการสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจตลาดทุนคำนึงถึง ESG เช่น การลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในบริษัทที่มี ESG รวมทั้งการให้ความรู้กับบุคลากรในภาคตลาดทุน ผู้ลงทุนและประชาชน โดยมีกิจกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ก.ล.ต.
สำหรับการดำเนินโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ในปีที่ 2 ก.ล.ต. และ 12 องค์กร รวมทั้ง TRBN มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการหรือจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ตลาดทุนไทยและประเทศไทย
หมายเหตุ : *9 องค์กร ที่ร่วมจัดตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (2) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (3) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (4) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (5) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (6) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (7) สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (8) Sustainable Brand ประเทศไทย และ (9) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
**ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งรับชมวีดิทัศน์ ภาพกราฟฟิก และข้อมูลกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว ได้ที่เว็บไซต์ของโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติฯ www.capthai4good.com