กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ชวนลูกค้าคืนกำไรสู่สังคม ผุดโครงการ “ลำไย ปันสุข…คืนสุข สู่ชุมชน” ทุกการซื้อ 1 กก. บริจาค 1 บาท เปลี่ยนเป็นสิ่งของอุปกรณ์วัสดุการแพทย์จำเป็น กลับคืน ป้ออุ๊ย-แม่อุ๊ยยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมสูงวัย ในพื้นที่แหล่งผลิตลำไยของประเทศ (เชียงใหม่ ลำพูน) เชื่อมโยงธุรกิจสู่ชุมชนเข้มแข็ง
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทุกปีแม็คโครรับซื้อผลผลิตลำไย ผลไม้ประจำท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มสหกรณ์ในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่เราพบคือ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ทุกสวนจะมีแรงงานสูงวัยมาช่วยกัน นั่งคัดแยก มัดพวงลำไย เป็นวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมแม็คโครจึงได้จัดตั้งโครงการ 'ลำไย ปันสุข…คืนสุข สู่ชมชน’ ขึ้น โดยทุกการซื้อลำไย 1 กิโลกรัมในแม็คโครทุกสาขาทั่วประเทศ จะบริจาค 1 บาท นำไปซื้อสิ่งของจำเป็นอุปกรณ์การแพทย์ ให้กลุ่มผู้สูงวัยในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ นำรายได้จากชุมชน กลับคืนสู่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม - 8 กันยายนนี้”
“นอกเหนือจากการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งแล้ว แม็คโครยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งโครงการ ลำไย ปันสุข…คืนสุข สู่ชุมชน จะนำเงินรายได้จากการขายลำไยทุก 1 กิโลกรัมบริจาค 1 บาทไปมอบให้กับ 3 องค์กรที่ดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุบ้านล้อง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, สถานสงเคราะห์คนชราวัยทองนิเวศน์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, กองทุนผู้ยากไร้ ต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่”
ด้าน นางสุมิตรา ไชยเวียง ผู้จัดการสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จำกัด กล่าวว่า “วิถีชีวิตของชาวสวนลำไย จะผูกพันกับผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งจะมารวมตัวกันในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อคัดแยก มัดพวง หากคิดสัดส่วนแล้วก็ประมาณ 50 เปอร์เซนต์ และมีอายุมากที่สุด 70 กว่าปี กลุ่มแรงงานสูงวัยจึงมีความสำคัญและผูกพันกับชาวสวนลำไย เมื่อแม็คโครมีโครงการนี้ คิดว่าดีมากเพราะจะช่วยให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ ได้รับการดูแลในระดับหนึ่งเลยทีเดียว”
ปัจจุบันแม็คโครเป็นแหล่งจำหน่ายลำไย โดยรับซื้อผลผลิตจาก สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ในหลายพื้นที่ อาทิ สหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จังหวัดลำพูน, สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จังหวัดลำพูน, สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่