ปตท.สผ. กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจรับสถานการณ์ที่ท้าทาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 31, 2020 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2563 มีกำไรสุทธิ 409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) โดยยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง แม้จะต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกและการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คณะกรรมการบริษัทได้ อนุมัติปันผลระหว่างกาล 1.50 บาท/หุ้น รวมทั้ง บริษัทยังได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจระยะยาว รับมือกับเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 2563 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 2,779 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 87,549 ล้านบาท) ลดลงประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3,001 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 94,830 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันปี 2562 โดยมีปริมาณขายเฉลี่ยอยู่ที่ 345,207 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จาก 326,971 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย และบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเลียมทั่วโลกลดลงอย่างมาก ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 50 จากต้นปีที่ผ่านมา มีผลให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. เฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 15 มาอยู่ที่ 40.15 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 47.26 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปี 2562 ราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ปรับตัวลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่าราคาน้ำมันดิบโลก ด้วยโครงสร้างราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ.ผูกกับราคาน้ำมันเพียงส่วนหนึ่งและมีการปรับราคาย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน ส่วนของน้ำมันดิบซึ่งมีปริมาณการขายประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณการขายทั้งหมด ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง บริษัทได้ทำสัญญาประกันความเสี่ยงไว้แล้วบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) จำนวน 47 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา เนื่องจากคาดการณ์ราคาน้ำมันในระยะยาวที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก จำนวน 409 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 12,935 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 51 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 827 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 26,163 ล้านบาท) โดยบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ 30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา ในระดับร้อยละ 70 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,095 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 34,954 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 4,323 ล้านบาท) จากปริมาณการขายและราคาผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา อนุมัติจ่ายเงินปันผล 1.50 บาทต่อหุ้น จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2563 ที่ 1.50 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 สิงหาคม 2563 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ปรับแผนงานรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นายพงศธร กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ปตท.สผ. จึงได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการขายในปี 2563 เป็น 355,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงประมาณร้อยละ 9 จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ปรับลดงบประมาณในปีนี้ลงร้อยละ 15-20 จากเดิมที่ตั้งไว้ 4,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 143,012 ล้านบาท) โดยได้พิจารณาตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนและเลื่อนแผนการเจาะสำรวจในบางโครงการออกไป โดยยังสามารถรักษาระดับการผลิตตามสัญญาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์การดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่มีความท้าทาย พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว “ปตท.สผ. ได้ประเมินผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคต เราจึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินการและเป้าหมายระยะยาวใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2573) เพื่อให้บริษัทสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึง การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันที่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยหลัก ๆ แล้ว เรายังคงมุ่งเน้นเรื่องการปรับลดโครงสร้างต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับชั้นนำของกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry top quartile) เพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงราคาน้ำมันผันผวน โดยจะยังคงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสำหรับการลงทุนต่อยอดธุรกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการเข้าซื้อกิจการซึ่งยังคงเน้นการลงทุนในประเทศไทย เมียนมา มาเลเชีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยตั้งเป้าอัตราการเติบโตของการผลิตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 5 และมีอัตราส่วนปริมาณสำรองต่อการผลิต (R/P ratio)ที่ 7 ปี นอกจากนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงโรงงานผลิต (Upstream & Liquefaction) และการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดย ปตท.สผ.ให้ความสนใจกับการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจพลังงานและการเติบโตในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะสามารถสร้างผลกำไรได้ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิของ ปตท.สผ. ในอีก 10 ปีข้างหน้า ” นายพงศธร กล่าว นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเน้นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ระบบงานต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนการผลิตให้มากขึ้นอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ