กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดบ้านระดมผู้ทรงคุณวุฒิด้านอุตสาหกรรมถุงมือยางทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งหาแนวทางป้องกันและพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย เล็งส่งเสริม ยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์โปรดักส์แชมป์เปี้ยนของไทย ณ ห้องประชุมสถลสถานพิทักษ์ ชั้น 6 อาคาร 1 การยางแห่งประเทศไทย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid –19) ที่ขยายการแพร่ระบาดไปทั่วโลกส่งผลให้แต่ละประเทศตระหนักถึงมาตรการการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรค Covid – 19 หลายประเทศ จึงมีความต้องการใช้ถุงมือยางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ สำหรับไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์เป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก ประมาณ 37,381 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.76 ส่งผลให้การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันถุงมือยางของประเทศไทยเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลายในทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบด้านกำลังการผลิตและการส่งออก ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก รวมถึง มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง กยท. ตระหนักทราบถึงประเด็นดังกล่าว ที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียง ตลอดจนความเชื่อมั่นที่มีต่อนักลงทุนในต่างประเทศ จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รวมถึงนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคผู้ผลิต และภาคธุรกิจ
นางวราภรณ์ ขจรไชยกูล ที่ปรึกษาด้านการควบคุมและแปรรูปอุตสาหกรรมยางปลายน้ำด้านยางแห้ง กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและมีการส่งออกถุงมือยาง แบ่งเป็น ถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ไปทั่วโลก ภายใต้มาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้า ISO 11193-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลสำหรับถุงมือตรวจโรค ซึ่งผลิตจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ และ ISO 10282 สำหรับมาตรฐานถุงมือผ่าตัด แต่ยังมีมาตรฐานระดับประเทศที่จำกัดการนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติ ได้แก่ ASTM ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) ได้มีการวิจัยสามารถลดปริมาณโปรตีนที่ละลายน้ำในถุงมือยางธรรมชาติได้ต่ำกว่า 200 ไมโครแกรม ตามมาตรฐานที่ ASTM กำหนด โดยคุณสมบัติทางการภาพยังคงเหมือนเดิม ขณะนี้ การวิจัยดังกล่าวผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบในระดับโรงงาน จึงเชื่อว่าถุงมือยางของประเทศไทยมีความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้ โดยก้าวต่อไปจะมีการร่วมบูรณาการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีถุงมือยาง ของหลายภาคส่วน เช่น กยท. MTEC กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง
ผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวว่า หากอ้างอิงจากปริมาณการส่งออกถุงมือยางของไทย ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก ถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสที่ดีของผู้ประกอบอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย รวมไปถึงกลุ่มประเทศผู้ใช้ถุงมือยางรายใหม่ที่มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ระบาดของโรค Covid-19 อาทิ ประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศตะวันอออกกลาง ซึ่งภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตถุงมือยางพาราให้มากขึ้น เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร ขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ Covid –19 ที่ทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการใช้ถุงมือยางสูงขึ้น แต่ไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาด เพราะหากมีการผลิตเพิ่มขึ้น การใช้ยางในประเทศก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ และเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นด้วย
ด้านผู้แทนจากกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหน่วยภาครัฐ ให้ข้อมูลว่า ได้รับการติดต่อประสานงานจากทูตพาณิชย์ประจำประเทศต่างๆ ทั่วโลก เรื่องความต้องการใช้ถุงมือยาง ที่ผ่านมากรมการค้าระหว่างประเทศ มีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และนำผู้ประกอบการไทยออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ COVID-19มีการปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อถุงมือยาง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยเฉพาะกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยินดีในการเป็นตัวกลาง ประสานงานให้กับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศเพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง ประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเชื่อมั่น และเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ผลิตถุงมือยางของไทย และผู้ใช้ในต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ควรกำหนดเป้าให้ชัดเจนว่าไทย คือ ประเทศศูนย์กลางอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของโลก