กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลโครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร เกษตรกรขายเศษวัสดุการเกษตรกว่า 4 พันตัน รับเงินกว่า 1.6 ล้านบาท
เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พุทธศักราช 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตร เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุการเกษตร ตลอดจนช่วยลดปัญหาวิกฤตหมอกควัน และสถานการณ์เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในหลายพื้นที่ของประเทศ
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 – พฤษภาคม 2563 โดยรณรงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่และชุมชน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร การจัดทำฐานเรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน การจัดการเศษวัสดุการเกษตร และการเชื่อมโยงตลาดในการจัดซื้อเศษวัสดุการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรในโครงการสามารถจำหน่ายเศษวัสดุการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษใบไม้ กากปาล์ม ซังข้าวโพด และปุ๋ยที่ชุมชนร่วมกันผลิต รวมทั้งสิ้น 4,406 ตัน เป็นเงิน 1,671,860 บาท
นอกจากนี้ ยังมีปุ๋ยอินทรีย์อีก 219,421 ตัน จากกิจกรรมฐานเรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 แห่ง และ ศดปช. 882 แห่ง รวม 1,764 แห่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการเกษตรต่อไปได้ ตลอดจนเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งที่ร่วมกำหนดกิจกรรมทางเลือกในการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่จุดต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ทำกองปุ๋ยหมัก 4,087 จุด ผลิตอาหารสัตว์ ได้แก่ อาหารสัตว์น้ำ ฟางอัดก้อน 1,655 จุด วัสดุสำหรับทำการเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ วัสดุเพาะเห็ดหรือปลูกพืช 360 จุด วัสดุสำหรับแปรรูป หัตถกรรม และอุตสาหกรรม ได้แก่ ทำกระดาษจากซังข้าวโพดหรือฟางข้าว ทำไม้กวาดทางมะพร้าว 41 จุด ใช้เป็นพลังงานทางเลือก ได้แก่ ผลิตถ่านอัดแท่ง หรือนำแกลบเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 54 จุด และเมนูทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ ผลิตจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ทำหัวปุ๋ยเบญจคุณแบบก้อน หรือทำปุ๋ยน้ำหมัก 54 จุด ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการนี้ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนทัศนคติและปรับพฤติกรรมโดยลดการเผา ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม รักษาสภาพโครงสร้างดิน และเห็นประโยชน์ของเศษวัสดุการเกษตรมากขึ้น เกิดความสามัคคีนำความรู้ไปปรับใช้และต่อยอดสู่แผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล ชุมชนดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ ทำปุ๋ยหมัก ไถกลบตอซัง ลดการเผา นำเศษวัสดุการเกษตรมาก่อให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนจำหน่ายเศษวัสดุการเกษตรแก่ผู้รับซื้อ