กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ สั่งการ เร่งขยายการใช้กล้วยไม้ในประเทศ ชวนทุกฝ่ายรณรงค์ อุดหนุนกล้วยไม้ไทยในการจัดงาน และมอบเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ รุกกระจายผลผลิตผ่านสหกรณ์ เพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ ด้านการช่วยเหลือด้านการเงิน กองทุนพัฒนาสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเต็มที่ เยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ บรรเทาผลกระทบโควิด-19
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง และกระทบมายังเกษตรกรผู้ผลิต ซึ่งหากมองการส่งออกกล้วยไม้แล้ว ประเทศไทยนับเป็นประเทศผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจนมาถึงการระบาดระลอก 2 ได้กระทบต่อโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นระงับการนำเข้าซึ่งหากดูปริมาณและมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้จากปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดในปี 2563 ทำให้การส่งออกชะลอตัวและหยุดชะงักลง โดยช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 มีปริมาณการส่งออกดอกกล้วยไม้ 7,455 ตัน มูลค่า 670.71 ล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงจากปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 34 และ 40 ตามลำดับ ชนิดดอกกล้วยไม้ที่ส่งออก ส่วนใหญ่ คือ ดอกกล้วยไม้สกุลหวาย สกุลมอคคารา อะแรนดา และออนซิเดียม ส่วนราคาที่เกษตรขายได้ปรับตัวลดลง เป็น 1.43 บาทต่อช่อ หรือราคาลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือ โดยเน้นขยายตลาดภายในประเทศทดแทนการส่งออกเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าเกษตร มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินของภาครัฐ และเร่งเจรจาการขนส่งทางอากาศ
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรฯ และทุกภาคส่วน ได้เร่งดำเนินมาตรการและแนวทางแก้ไขเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกร สำหรับแนวทางการขยายตลาดภายในประเทศ เร่งดำเนินการกระตุ้นให้เกิดความต้องการกล้วยไม้ไทยเพิ่มขึ้น โดยการจัดงานแคมเปญต่างๆ มหกรรมสินค้า เพื่อส่งเสริมให้คนไทยอุดหนุนกล้วยไม้ไทยนำไปใช้ในการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะรณรงค์การใช้กล้วยไม้ในงานพิธีกรรมทางศาสนา และใช้ในศาสนสถาน งดเว้นการใช้ดอกไม้เวียน เป็นต้น และอยากขอความร่วมมือทุกท่าน ตลอดจนขอความร่วมมือส่วนราชการ บริษัท ห้าง/ร้าน โรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจต่างๆ ช่วยกันอุดหนุนกล้วยไม้ไทยและรวมถึงสินค้าเกษตรต่างๆ ในการจัดงาน หรือมอบเป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ ร่วมกัน
ในส่วนของการกระจายผลผลิต ดำเนินการผ่านหลากหลายช่องทางทั้ง off line และ online โดยตลาด offline ประสานความร่วมมือกับ อ.ต.ก. ตลาดไท และห้างสรรพสินค้า รวมถึงศูนย์กระจายสินค้า (DC) ของสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรนำกล้วยไม้ไปวางจำหน่ายในพื้นที่ สำหรับช่องทาง online ดำเนินการผ่านสหกรณ์ โดยการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม เช่น ไปรษณีย์ไทย 24 Shopping Lazada เว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตแปลงใหญ่กล้วยไม้ สมาคม ชมรมกล้วยไม้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้แปลงใหญ่กระจายผลผลิตกล้วยไม้คุณภาพดีสู่ผู้บริโภคโดยตรงเผยแพร่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การร้อยพวงมาลัย จัดแจกัน ช่อบูเก้ เป็นต้น ตลอดจนร่วมกับแปลงใหญ่กล้วยไม้ จำหน่ายในรูปแบบ Pre-Order ผ่านทาง Social MediaLINE ID : @736bvpit ให้สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าได้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง มีจำนวนสินค้าและรายได้แน่นอน สามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าที่สวน เป็นช่อละ 2 – 2.50 บาท
ด้านแนวทางความช่วยเหลือด้านมาตรการเงินของภาครัฐได้แก่ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี และความช่วยเหลือผ่านธนาคาร ธ.ก.ส. โดยผู้กู้ยืมใหม่ สนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ส่วนผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และรายบุคคล รายละไม่เกิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี สำหรับหนี้เดิม - ปรับโครงสร้างหนี้ ให้ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี และขยายเวลาชำระหนี้ ไม่เกิน 15 ปี เป็นต้น