กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ซูม พีอาร์
ในปีนี้ ประเทศไทยได้เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park หน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้มานานกว่า 15 ปี มีแผนพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการบริการแหล่งเรียนรู้วิถีใหม่ New Normal เพื่อขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ รวมถึงสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ประชาชน
ก้าวต่อไปในปี 2564 สถาบันอุทยานการเรียนรู้ เตรียมเดินหน้าสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ อาทิ บริการห้องสมุดออนไลน์ TK Public Online Library รวบรวมทั้งหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 26,000 รายการ รวมถึงมีโครงการพัฒนาต้นแบบตู้บริการหนังสืออัตโนมัติในที่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ในระยะยาวมีแผนสร้างแพลตฟอร์มอุทยานการเรียนรู้เสมือน Virtual TK เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้สมัยใหม่สู่หน่วยงานเครือข่าย และล่าสุดมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมการรู้ผ่านเกม ในรูปแบบการประกวดบอร์ดเกม Print and Play ที่สามารถส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นความใฝ่เรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ภารกิจหลักในปี พ.ศ.2564 ของ TK Park คือการมุ่งขยายโอกาสให้ประชาชนในทุกระดับสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ผ่านการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งความรู้ในทุกช่องทาง ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จึงเป็นที่มาของแผนงานในปีหน้ากับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศน์ที่เชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้อย่างสะดวกง่ายดาย และเรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน ผ่าน 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ต้นแบบ การสร้างสรรค์นวัตกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ และการบริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ มีจุดเริ่มต้นมาจากอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบที่ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชน จนนำมาสู่การร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และขยายผลการก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้ครอบคลุมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ประกอบด้วยเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัดเปิดบริการแล้วจำนวน 28 แห่งในพื้นที่ 21 จังหวัด ห้องสมุดมีชีวิตประจำโรงเรียนโดยร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดสร้างให้จังหวัดละ 1 แห่งรวม 76 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล ที่เป็นลักษณะของแหล่งการเรียนรู้ใกล้บ้านอีกกว่า 200 แห่ง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ 6 หน่วยงาน ซึ่งทุกเครือข่ายต่างเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ มุ่งเน้นการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและไว้ใจได้ เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ สร้างสรรค์ พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกันเป็นทีม
คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้จะพร้อมเปิดให้บริการอุทยานการเรียนรู้เครือข่ายเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์เมืองลำปาง และ อุทยานการเรียนรู้บุรีรัมย์ และสำหรับปี 2564 มีแผนจะเปิดให้บริการอีก 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้พะเยา และอุทยานการเรียนรู้สุราษฎร์ธานี
สำหรับอุทยานการเรียนรู้ TK Park กรุงเทพฯ ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ อยู่ในระหว่างปิดบริการเพื่อปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2564 โดยในขณะนี้เราเปิด TK Alive ชั้น 6 เพื่อให้บริการสมาชิกที่ต้องยืมคืนหนังสือ รวมถึงบริการ TK Book Delivery Service จัดส่งหนังสือให้กับสมาชิกถึงบ้าน
ในด้านของการสร้างสรรค์นวัตกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ได้ดำเนินการพัฒนาบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักอ่านยุคใหม่ที่โดดเด่นคือ บริการ TK Public Online Library แพลตฟอร์มห้องสมุดออนไลน์ที่อ่านได้ทุกที่ ทุกเวลา มีหนังสือและคอร์สออนไลน์ให้บริการกว่า 26,000 รายการ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดรุนแรงของโควิด 19 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มียอดการยืมหนังสือและสื่อออนไลน์สูงกว่า 260,000 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้เสมือน หรือ Virtual TK อันเป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งให้บริการแก่องค์กรที่ต้องการเข้าถึงต้นแบบแหล่งเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในรูปแบบของตนเองต่อไป ในส่วนของการสนับสนุนส่งเสริมการอ่าน สถาบันอุทยานการเรียนรู้มีโครงการพัฒนาต้นแบบตู้บริการหนังสืออัตโนมัติในที่สาธารณะ เพื่อกระจายการเข้าถึงหนังสือสู่ประชาชนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน MyTK เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก TK Park ให้สามารถเข้าถึงรายการหนังสือในห้องสมุดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ ปีนี้สถาบันอุทยานการเรียนรู้ได้จัดโครงการอบรมและประกวดออกแบบบอร์ดเกม Print and Play ที่เปิดรับไอเดียใหม่ๆ สำหรับสื่อการเรียนรู้ที่สามารถส่งต่อให้เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ง่ายดาย เพียงแค่พิมพ์ออกมาก็นำมาเล่นเพื่อเสริมการเรียนรู้ได้ทันที ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนรู้ผ่านเกมในรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก
เพื่อรับมือต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ยังได้มุ่งเน้น การบริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้ ในหลากหลายโครงการ ล่าสุดได้จัดทำโครงการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” ในจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อร่วมกันระดมความคิด เกี่ยวกับการจัดทำสื่อนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ให้เป็นหนังสือของเด็กเชียงราย ที่มีเนื้อหาสาระบนพื้นฐาน “ปัญญาล้านนา” และบริบททางวัฒนธรรมของเชียงรายอย่างแท้จริง รวมถึงการจัด Solution Lab Hackathon ที่เป็นเวิร์คช็อปเพื่อการระดมสมองออกแบบนโยบายสาธารณะระดับประเทศ เกี่ยวกับการสร้างแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านกระบวนการออกแบบแนวคิดที่ยึดถือความต้องการของประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง (Citizen-centered Design) และส่งต่อข้อเสนอในเชิงนโยบายเหล่านี้สู่ภาครัฐต่อไป
ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ยังจัดกิจกรรมด้านความรู้ในระดับนานาชาติ โดยเตรียมจัดงานบรรยายออนไลน์เกี่ยวกับหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “Open World through Children’s Picturebooks” โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสร้างสรรค์หนังสือภาพจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และประเทศไทย มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เปิดเวทีให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ฟรี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ มุ่งที่จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยให้ประชาชนในทุกระดับ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และพัฒนาปัญญา เพื่อให้ประชาชนพร้อมรับมือ และปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่หลังจากนี้