กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “SCGP”) โชว์ผลประกอบการครึ่งปีแรกแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 โดยมีรายได้จากการขาย 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับยอดขายบรรจุภัณฑ์กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่พุ่งแรง อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีฐานลูกค้าที่หลากหลายอยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ส่วนกำไรสุทธิครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขยายตัวได้ดีกว่าภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมาจากการบริหารงานด้วยกลยุทธ์เชิงรุกให้สามารถขายสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่ตอบโจทย์และทันต่อความต้องการของลูกค้า และจากการขยายธุรกิจและการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership)
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นแพคเกจจิ้งสำหรับ B2C และการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเพื่อยับยั้งโรคระบาด โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิต การทำ Synergy ระหว่างโรงงานที่มีอยู่หลากหลาย และการบริหารสัดส่วนการขายสินค้าได้ดี จึงสามารถรักษาอัตรา EBITDA Margin (กำไรก่อนภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย) ไม่ให้ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่ SCGP สามารถสร้างการเติบโตได้ดีในครึ่งปีแรก มาจากยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ฟู้ดเดลิเวอรี่ ผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ (Healthcare) ที่เติบโตอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ประชาชนบางส่วนปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบ Work From Home และปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตสู่ New Normal โดยประชาชนมีการเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ใส่ใจในสุขภาพและใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อาทิ แอลกอฮอล์เจล สเปรย์ฆ่าเชื้อ ฯลฯ รวมถึงสั่งซื้ออาหารมารับประทานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งชดเชยกับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์บางกลุ่มสินค้าที่ชะลอตัวลง อาทิ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์
ขณะเดียวกัน การที่บริษัทฯ มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายถือเป็นจุดเด่นของ SCGP โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์รวมถึงพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าแบบเฉพาะรายและร่วมทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแรงและได้รับคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทฯ ยังได้รับผลดีจากการควบรวมกิจการหรือ Merger and Partnership (M&P) กับ PT Fajar Surya Wisesa Tbk ผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย และบริษัทวีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP กล่าวว่า สำหรับตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะยังคงมีการเติบโตท่ามกลางความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นและมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ทยอยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง จึงน่าจะส่งผลดีต่อการอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ จะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากเป็นสินค้าคงทนและมีมูลค่าสูง
ส่วนแนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะได้รับผลบวกจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรองเท้า จึงคาดว่าตลาดในประเทศเวียดนามจะยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี สำหรับประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์คาดว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในครึ่งปีหลังยังชะลอตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ SCGP เดินหน้าก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิต 4 โรงงานใน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 8,200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 – 2564 และอยู่ระหว่างการเข้าซื้อกิจการโรงผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกในประเทศเวียดนามซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโตในภูมิภาคอาเซียน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) ดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในธุรกิจของเอสซีจีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่เติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น (Consumer Growth) ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ SCGP ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) ทั้งกระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Packaging Solutions Provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าชั้นนำระดับสากลได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร
หมายเหตุ
การแจกจ่ายเอกสารฉบับนี้ไปยังประเทศหรือเขตอำนาจรัฐอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย อาจเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อจำกัดทางกฎหมายนั้น ๆ เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกจัดทำเพื่อการเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการแจกจ่าย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในหรือไปยังสหรัฐอเมริกา
เอกสารฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือการชักชวนให้เข้าซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ และไม่มีการเสนอขายหรือซื้อหลักทรัพย์ในประเทศหรือเขตอำนาจรัฐใดที่การเสนอขาย การชักชวนการเสนอซื้อ หรือการขายหลักทรัพย์นั้นขัดต่อกฎหมาย หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1933 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ("กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา") หรือกฎหมายของรัฐใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือว่าทั้งหมดของการเสนอขายหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ในสหรัฐอเมริกา หรือดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา
ข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่เป็นการคาดการณ์ของตลาดหรือแนวโน้มอุตสาหกรรมนอกเหนือจากที่เป็นข้อเท็จจริงในอดีต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองในปัจจุบัน สมมติฐาน การประมาณการ อันมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน จึงมิได้เป็นการรับประกันว่าเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่คาดการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในสมมติฐานหรือปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากการคาดการณ์ดังกล่าว