กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) สร้างสรรค์นวัตกรรมต้นแบบจักรยานรีไซเคิลเติมอากาศบ่อเลี้ยงปลา ประยุกต์งานวิศวกรรมมาใช้ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ MUEG จิตอาสาสร้างนวัตกรรมต้นแบบจักรยานรีไซเคิลเติมอากาศ ส่งเสริมการออกกำลังกาย-รักษาสิ่งแวดล้อม โดยส่งมอบให้โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด โดยมี นายเจน เกิดโพชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด และ นางสาวลักษมณ มากมูล อาจารย์โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด เป็นผู้รับมอบ ณ โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม
เหล่านักเรียนหญิงและชายต่างยินดีที่ได้ระบบซึ่งช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโรงเรียน พากันมาร่วมปั่นจักรยานเพื่อเติมออกซิเจนในบ่อเลี้ยงปลากันอย่างคึกคักด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โครงการ MUEG จิตอาสาสร้างนวัตกรรมต้นแบบจักรยานรีไซเคิลเติมอากาศ โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด เกิดจากการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG โมเดลเข้ามาใช้ในการพัฒนาชุมชน โดยทีมจิตอาสาและนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ซ่อมพัฒนาจักรยานที่ไม่ใช้แล้วมาถีบออกกำลังกายปั่นน้ำโดยทำให้ระบบท่อน้ำพุในบ่อเลี้ยงปลาทำงาน เพื่อเติมออกซิเจนช่วยบำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงปลาภายในโรงเรียน นอกจากนี้ยังวางระบบท่อนำน้ำที่บำบัดแล้วมารดหลังคาโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อเป็นการระบายความร้อนและเป็นการชำระล้างให้เกิดประโยชน์ครบวงจร ส่งเสริมการใช้เป็นผลผลิตจากการเลี้ยงไก่ไข่เป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ร่วมกับโรงเรียนพัฒนาแปลงผักหลายชนิดในโรงเรียน ซึ่งนักเรียนจะช่วยกันใช้ระบบปั่นจักรยานรีไซเคิลรดน้ำแปลงเกษตรเพื่อเป็นอาหารกลางวันไว้แล้ว”
ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม นับเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบของการนำหลักวิศวกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และหมุนเวียนอย่างครบวงจร และใช้เป็นฐานการเรียนรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงภายในโรงเรียน เป็นต้นแบบแก่โรงเรียนอื่นๆ และชุมชนรอบข้างอีกด้วย โดยนวัตกรรมที่คณะวิศวะมหิดลส่งมอบครั้งนี้ ได้แก่ จักรยานปั่นปันน้ำต้นแบบ จำนวน 2 ชุด, ระบบรดน้ำหลังคาโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 1 ชุด, ระบบน้ำพุบำบัดน้ำเสียในบ่อน้ำแบบปิด จำนวน 2 ชุด มีประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งด้านสุขภาพ รีไซเคิลขยะ การบำบัดและหมุนเวียนน้ำ เพิ่มผลผลิตอาหารกลางวันให้นักเรียน”
นอกจากนี้ ทีมจิตอาสางานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ถ่ายทอดความรู้แก่ครูและนักเรียนบ้านหอมเกร็ด เกี่ยวกับ ขั้นตอนการใช้งานและการบำรุงรักษา เพื่อเผยแพร่ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลระบบอย่างถูกต้องต่อไปด้วย