กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวกรณีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีแนวคิดเสนอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงสมุทรปราการ-บางปู ที่เดิมกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ มาดำเนินการเอง เนื่องจากทั้ง 2 โครงการ ไม่มีความคืบหน้าว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 12 เส้นทาง ระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ.2553-2572) โดยกำหนดให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนสายรอง ต่อมาในเดือนธันวาคม 2556 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดส่งข้อมูลรูปแบบและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาให้ กทม.
จากนั้น กทม. ได้ของบประมาณศึกษาความเหมาะสมจัดทำแบบเบื้องต้นและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาของโครงการ โดยได้รับงบประมาณในปี 2557 และหลังจาก กทม. ได้ศึกษาฯ และเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และได้มีการเสนอรายงานฯ ต่อ สผ. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.62 โดยที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 6 มี.ค.63 และได้มีมติให้เพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การปรับแก้การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร การประเมินความแออัดในการให้บริการ การตรวจสอบความถูกต้องของจุดตัดระหว่างโครงการกับ Airport Rail Link การปรับรูปแบบโครงสร้าง ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างปรับแก้รายงานเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถส่งให้ สผ.พิจารณาได้อีกครั้งประมาณปลายเดือน ส.ค.63 สำหรับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) ปัจจุบันได้รับงบประมาณปี 2564 เฉพาะในส่วนของการเสนอโครงการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา (ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ) เพื่อนำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเข้าสู่กระบวนการ PPP
ส่วนสาเหตุที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาล่าช้า เนื่องจากการพิจารณา EIA ในการดำเนินโครงการต้องได้รับความเห็นชอบในหลักการจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ โดย กทม. ได้ประสาน กทพ. ตั้งแต่ปี 2558 และได้หารือร่วมกัน จนปัจจุบัน กทม. ได้รับอนุญาตจาก กทพ. แล้ว ทั้งนี้ กทม. จะเร่งรัดกระบวนการ PPP เพื่อคัดเลือกเอกชนที่จะดำเนินการก่อสร้าง โดยมีแผนการเปิดให้บริการโครงการดังกล่าวในปี 2568 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงสมุทรปราการ-บางปู โครงการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอน EIA แล้ว อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติดำเนินการก่อสร้าง