ไทยนำอาเซียนหารือจีน ยกระดับความตกลงทางการค้า เร่งเปิดตลาดเสรีเพิ่มเติม หลังโควิด-19 คลี่คลาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 5, 2020 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน (ASEAN - China Free Trade Agreement - Joint Committee : ACFTA-JC) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ Ministry of Commerce สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะองค์ประกอบผู้แทนไทย ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินการตามประเด็นที่จะเจรจาต่อไปในอนาคต (Future Work Programme) ภายใต้พิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน (ACFTA Upgrading Protocol) ได้แก่ การหารือแนวทางการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม การหารือการเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน รวมถึงการหารือความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือ ACFTA อาทิ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และขณะเดียวกันที่ประชุมก็ได้เน้นย้ำถึงถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน - จีน ที่ได้แสดงเจตจำนงร่วมกันเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระดับโลกและภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในด้านการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ความมุ่งมั่นในการรักษาตลาดที่เปิดกว้าง การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดและปรับปรุงเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค รองเลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรอบความตกลง ACFTA จะช่วยให้ภาคการเกษตรของไทยได้โอกาสในการขยายตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดประเทศจีนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการหารือเพื่อขยายความร่วมมือในด้านวิชาการและการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทย ซึ่งระหว่างปี 2560 - 2562 ทั้งสองฝ่ายมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันเฉลี่ยปีละ 284,482 ล้านบาท จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 219,691 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 64,791 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 154,900 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางธรรมชาติ ทุเรียน และมันสำปะหลัง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ พืชผักแห้ง สัตว์น้ำแช่แข็ง แอปเปิ้ล เห็ดหูหนู และองุ่นสด เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ