กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันที่ 4 สิงหาคม ของทุกปี ได้มีการกำหนดให้เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ ซึ่งได้เวียนมาบรรจบครบรอบปีอีกครั้ง สำหรับพิธีถวายบังคม พระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี พุทธศักราช 2563 โดยในการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านการสื่อสารให้กับประเทศไทย ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนสนับสนุนด้านความมั่นคงของชาติด้วยประการหนึ่ง
ดังนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้สถาปนา“กรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลขขึ้น” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 และจากนั้นมา ก็ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตามมา เช่น การนำรถไฟมาสนับสนุนกิจการไปรษณีย์ การนำเครื่องบินมาสนับสนุนการไปรษณีย์ ที่เรียกว่า รอยัลเมล์ และจากการก่อตั้งหน่วยงานดังกล่าว กิจการเทคโนโลยีด้านการสื่อสารของประเทศไทย ก็ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง จนเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน
โดยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2526 กำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และได้ดำเนินการจัดงานวันสื่อสารครั้งแรกในปีเดียวกันโดยจัดร่วมกับงาน “ครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข” (ปัจจุบัน คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) และการเฉลิมฉลอง “ปีการสื่อสารโลก”
สำหรับกิจการสื่อสารของประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลายครั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559
กระทรวงดิจิทัลฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ จึงได้เร่งรัดจัดทำโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยขยายไปยังพื้นที่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ยังไม่มีโครงข่าย Fiber Optic เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม
รวมทั้งให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพประชาชนทุกภาคส่วนในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) พัฒนาแกนนำอาสาสมัครดิจิทัลระดับอำเภอ และการสร้างเครือข่ายในระดับหมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ อาทิ การรักษาทางไกล การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา การจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นแบบ e-commerce เป็นต้น โดยจะขยายผลสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและทุกชุมชนต่อไป
ด้านการพัฒนาการให้บริการประชาชน ได้จัดให้มีคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการข้อมูลภาครัฐ และนำไปสู่เป้าหมายการเป็นรัฐบาลดิจิทัล
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อแก้ไขปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน โดยทำหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นำมาแจ้งเตือนและเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงดิจิทัลฯ ได้สนับสนุนการใช้งานแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันต่างๆ ได้แก่ หมอชนะ, ไทยชนะ, AOT Airport Card2U ซึ่งพัฒนาขึ้นมารองรับมาตรการผ่อนคลายเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ในแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยและคุ้มครองข้อมูลของประชาชนเป็นสำคัญ
“ในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาตินี้ กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืนตลอดไป” นายพุทธพงษ์กล่าว