กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ก.ล.ต.
ตามที่มีบริษัทจดทะเบียนบางรายที่ได้ซื้อคืนหุ้นของตนเอง และเมื่อเดือนกันยายน 2547 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่า การซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารการเงินตามมาตรา 66/1 (2) ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 จะกระทำได้ไม่เกินวงเงินกำไรสะสม และมีข้อเสนอแนะว่าควรกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการซื้อหุ้นคืนให้บริษัทต้องกันกำไรสะสมไว้เป็นเงินสำรองเท่ากับจำนวนเงินที่ได้จ่ายซื้อหุ้นคืน จนกว่าจะมีการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนได้หมด หรือ ลดทุนที่ชำระแล้วโดยวิธีตัดหุ้นซื้อคืนที่จำหน่ายไม่หมด แล้วแต่กรณี นั้น
ก.ล.ต. จึงได้ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจน โดยในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2548) ก.ล.ต. ได้มีหนังสือเวียนถึงบริษัทจดทะเบียนว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป บริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนต้องมีกำไรสะสมไม่น้อยกว่ามูลค่าหุ้นซื้อคืนที่ยังคงเหลือในบัญชี และในกรณีที่จะนำกำไรสะสมไปจ่ายเงินปันผล กำไรสะสมคงเหลือหลังการจ่ายเงินปันผลต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหุ้นซื้อคืนที่ยังคงเหลืออยู่ในบัญชีด้วย เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้การซื้อหุ้นคืนเป็นการลดทุนทางอ้อมซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัท รวมทั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า บริษัทยังคงมีกำไรสะสมคงเหลือทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้บริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนทุกบริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกำไรสะสมที่จัดสรรเป็นสำรองสำหรับหุ้นซื้อคืนให้ชัดเจนในงบการเงินด้วย--จบ--