กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่ 8 สิงหาคม 2563 เป็นวันครบรอบ 53 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาที่พบในประชากรวัยรุ่นของหลายประเทศในอาเซียนคือ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อันมีสาเหตุหลายประการทั้งจากสภาพสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งกระแสสังคมบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำโลกในยุคดิสรัปชั่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ องค์การสหประชาชาติ (UN) ท่ามกลางปัญหา "แม่วัยใส" ที่ส่วนใหญ่ในโลกยุคดิสรัปชั่นเกิดจากการปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เนื่องจาก
ขาดวุฒิภาวะและภูมิคุ้มกันต่อสื่อที่ยั่วยุเป็นปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในพฤติกรรมทางเพศจนทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อม เนื่องจากส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียนเช่นกัน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ อิศรภักดี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไทยมีแม่วัยใสมากเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน โดยพบว่าเมื่อแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ ชีวิตของพวกเธอเปลี่ยนแปลงทันที ที่เห็นได้ชัด คือ การศึกษาของพวกเธอมักจะหยุดชะงัก หรือจบลงส่งผลให้โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพวกเธอลดน้อยลงไปด้วย
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า เด็กทารกที่คลอดออกมาแล้วต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ดีด้วย ปัญหาที่พบของแม่วัยใสไทย
ที่เห็นได้ชัด คือ การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้ให้สิทธิแม่วัยใสในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในสังคม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดจนสวัสดิการสังคม ซึ่งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีคลินิกส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก และคลินิกวัยรุ่น ที่คอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ได้รับสิทธิทางสุขภาพและสังคม รวมไปถึงสิทธิในการเรียน ซึ่งปัญหาแม่วัยใสเป็นปัญหาที่เมื่อเกิดขึ้นต้องได้รับการแก้ไขด้วยความชอบธรรมเพื่อไม่ให้ถูกกีดกันออกจากสังคม ควบคู่ไปกับการรณรงค์ป้องกัน