กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ไทยเซ็นทรัลเคมี
การระบาดของโรค COVID-19 และภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกข้าวของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2563 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี การส่งออกข้าวอาจพลิกกลับฟื้นตัวเนื่องจากความต้องการข้าวที่เพิ่มมากขึ้น ชี้หนทางรอดต้องเพิ่มผลผลิตข้าวไทย ลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ลดลง ใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพก็ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและถูกวิธี และต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร
นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยและที่ปรึกษาอาวุโส บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเกษตรเต็มสูตร เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาการเกษตรไทย ภายหลังการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 และการทำการเกษตรปลอดภัยคือทางรอดของประเทศไทย ว่า การระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นปลายปี 2562 และส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกข้าวของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรง ผลผลิตข้าวนาปีที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 การส่งออกข้าวอาจพลิกกลับฟื้นตัวอันเนื่องมาจากความต้องการข้าวที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาจากภาวะความตกต่ำของการส่งออกข้าวไทย ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท ภาวะภัยแล้ง รวมทั้งประเทศจีนที่เปลี่ยนสถานะจาก ผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ การเพิ่มผลผลิตข้าวไทย ให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ลดลง เราจึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก เช่น ข้าว และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน หากภาครัฐมุ่งเน้นเพียงแต่ให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นพรีเมี่ยมเพียงอย่างเดียว การสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับ ขนาดของตลาด (market size) กลุ่มผู้บริโภคคือใคร? รวมทั้งความคุ้มทุนในการผลิตสินค้าเกษตรพรีเมี่ยม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การเพิ่มผลผลิต การหาวิธีการจัดการต่างๆ ให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ลดลง ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าได้อย่างยั่งยืน
นายกองเอกเปล่งศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ปุ๋ยเคมี จากการที่มีกระแสต่อต้านการใช้สารเคมี และดูเหมือนว่า บรรดาสารเคมีที่ใช้ในวงการเกษตรนั้น ปุ๋ยเคมีได้รับการต่อต้านมากที่สุด ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้เลิกใช้ ทั้งที่ปุ๋ยเคมีไม่ได้ถูกจัดเป็นสารพิษ ปุ๋ยเคมีจัดเป็นธาตุอาหารให้แก่ดินและพืช พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน ถ้าเลือกใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้องกับคุณสมบัติของดินและพืชแต่ละแห่ง ปุ๋ยเคมีก็จะไม่ช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ ดังนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพก็ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและถูกวิธี และต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร
ปัญหาที่เกิดจากการทำการเกษตรที่ขาดทักษะ ขาดความรู้ความเข้าใจทางวิชาการอย่างถูกต้อง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ส่งผลให้สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ มีระดับราคาที่ต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรได้การพัฒนาสินค้าทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ ซึ่งในปัจจุบันแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช หรือเกษตรปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) จึงเป็นหลักปฏิบัติการทำการเกษตรที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศภายใต้ สินค้าเกษตรปลอดภัย
ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมกันส่งเสริมให้กับเกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจการการทำการเกษตรปลอดภัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นควบคู่ไปกับการนำประเทศสู่ความสำเร็จทางการเกษตรในอนาคต ตลอดจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นครัวของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ